อดีตรมว.สธ.ชี้ประเทศไทยต้องปรับแนวคิดพัฒนาระบบสุขภาพ เน้นส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค มองโควิดเป็นโอกาสเห็นศักยภาพของไทย เชื่อปรับตัวได้ มั่นใจสรพ.จิ๊กซอว์สำคัญช่วยตรวจคุณภาพสถานพยาบาล
เมื่อวันที่11มีนาคม ที่ศูนย์การประชุมเมืองทองธานี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ระบบสุขภาพไทย เดินต่ออย่างไร” ซึ่งจัดขึ้นภายในงานประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 22 หัวข้อ “Towards Scaling Up and Resilience in Healthcare” ของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ว่าการประชุมวิชาการสรพ.ครั้งที่ 22 ถือว่าไม่ธรรมดาเพราะมีผู้เข้าร่วมในสถานที่จัดงาน และผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแทบจะเป็นการจัดงานระบบปกติในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่ามนุษย์สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งหลายครั้งต้องใช้เวลา หรือมีสถานการณ์บางอย่างบังคับ เช่นโรคโควิด -19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดตรงไหน ถ้าจะมองเป็นวิกฤติก็ได้ แต่ตนมองว่าเป็นโอกาสใหญ่ที่ทำให้มีหลายอย่างปรับตัวได้ดี ที่ไม่เคยทำได้ก็สามารถทำได้ เช่น การร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลิตอุปกรณ์ป้องกันโรคขึ้นเองในประเทศ ทั้งชุด PPE หน้ากากอนามัย และอื่นๆ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพ
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า จากการรับฟังการประชุมวิชาการสรพ.ตลอด 3 วัน ยังได้เห็นความหลากหลายในการทำงานของสถานพยาบาล ในการดูแลผู้ป่วยอย่างมีศักยภาพ และคุณภาพ มีความยืดหยุ่น ตั้งรพ.สนามได้ภายในสัปดาห์เดียว เกิดระบบดูแลตัวเองที่บ้าน ศูนย์กักตัวชุมชน ซึ่งมีศักยภาพและประชาชนยอมรับ ดังนั้นโรคระบาดครั้งนี้ถึงเป็นวิกฤติ แต่เห็นความสำเร็จในการรับมือของทั้งผู้นำในเชิงนโยบาย คนทำงานหน้าด่านทุกสาขาวิชาชีพ ความร่วมมือทุกภาคส่วน เพื่อเซตระบบให้เกิดความไว้วางใจ เกิดระบบสุขภาพวิถีใหม่ ซึ่งน่าชื่นชม หากคนในประเทศมีแต่ติกันก็ไม่รู้ว่าจะไปทางไหนต่อ ถึงวันนี้เราไม่รู้ว่าจะต้องรับกับสถานการณ์นี้ต่อไปอีกนานแค่ไหน ยากลำบากกันมาถึง 2 ปีแล้ว ล่าสุดกรณีที่กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า โรคโควิดจะเป็นโรคประจำถิ่นในเดือนก.ค. เราก็ยังหวังให้เป็นเช่นนั้น ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้จริง หรือไม่ก็ได้ หรืออาจจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้นก็ได้ ทุกคนจึงต้องร่วมมือกัน
อย่างไรก็ตาม แล้วจากนั้นระบบสุขภาพไทยจะเดินต่ออย่างไร ก็ต้องรู้ว่าปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน ซึ่งประเทศไทยมีสิ่งที่หลายประเทศไม่มี คือ อสม. 1,040,000 คน เป็นกำลังสำคัญเป็นระบบรากหญ้าดูแลประชาชน 1 ต่อ 60 ประชากร มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กว่า 10,000 แห่ง ครบทุกตำบล มีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 798 แห่ง มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 96 แห่ง ทั่วประเทศอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และยังมีโรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดอื่นที่พอเกิดวิกฤติโควิด -19 ทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมมือกันเป็นหนึ่งเดียว ขณะเดียวกันก็มีระบบสุขภาพ 3 กองทุน คือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ ครอบคลุมคนไทย 99 % อาจจะมีหลุดบ้างนิดหน่อย ทั้งหมดทำให้ระบบสุขภาพไทยอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก หลายประเทศยกไทยเป็นตัวอย่าง
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า แต่จากนี้อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบางอย่างให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะสิ่งที่วางไว้ในอดีตก็เหมาะสมกับสถานการณ์ในช่วงเวลานั้น อย่างเช่น 30 บาท รักษาทุกโรคซึ่งเหมาะสมกับช่วงเวลานั้น แต่อาจจะไม่เหมาะสมกับช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นระยะที่เราต้องเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ไม่ให้คนเจ็บป่วย ไม่เช่นนั้นเติมเงินเข้าไปเท่าไหร่ก็คงไม่พอ จึงต้องเน้นการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2030 ซึ่งประเทศไทยก็เข้าร่วมด้วย โดยมีข้อกำหนดหลายข้อ แต่หลักการคือเน้นสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีหัวใจหลักคือการมีสุขภาพดีจึงจะสามารถพัฒนาประเทศต่อไปได้
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทยต้องเปลี่ยนเป้าหมายมาที่การส่งเสริม คุ้มครอง ป้องกัน และฟื้นฟู โดยเฉพาะขณะนี้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะเน้นการรักษาเป็นหลักไม่ได้เพราะเสี่ยงล้มละลาย ดังนั้น ระดับนโยบายต้องเปลี่ยนตรงนี้ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเราได้วางมาตรการไว้หลายอย่าง เช่น เกิดศูนย์อาเซียนเพื่อการพัฒนาสังคมผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปแบบของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เพื่อกำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาในชุมชน เพราะแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน นอกจากนี้ ต้องพัฒนารพ.สต.ให้เป็นองค์กรแห่งความรอบรู้ด้านสุขภาพ และทำให้คนในชุมชนมีความรอบรู้ด้วย ทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ป้องกันการเจ็บป่วย เชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบไอที ให้โรงพยาบาลเป็นเพียงปลายทางการดูแลสุขภาพ ทั้งนี้สรพ.เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงสถานดูแลสุขภาพรูปแบบอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี อยู่ดี มีสุข ซึ่งการมีสุขภาพดีเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า ระบบสุขภาพมั่นคง
“เมื่อไหร่เจอวิกฤติ ผมก็เห็นเป็นโอกาส ไม่ว่ารพ.สต.จะโอนหรือไม่โอน แต่ข้อมูลสุขภาพขาขึ้น ขาลงต้องเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่อย่างนั้นจะมีส่วนที่รับ ส่วนไม่รับ ส่วนที่รู้ ส่วนไม่รู้ ไปตกหนักที่ประชาชน ดังนั้นต้องเดินหน้าชัดเจน รพ. ต่างๆ ชัด รพ.ศิริราช รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขต้องเปลี่ยนระบบจากที่ต้องมารพ. ก็หันมาใช้ AI หรือการเทเลเมดดิซีน ดังนั้นโรงพยาบาล จะเป็นแค่ปลายทางการเจ็บป่วย เพราะโรคและการเจ็บป่วยสามารถป้องกันได้ และป้องกันก่อนป่วย ซึ่งเกิดได้นอกโรงพยาบาลจากการที่ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ” ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าว.