กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ปัญหาฟันผุของเด็กปฐมวัย ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก แนะพ่อแม่ ผู้ปกครอง แปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และแปรงฟันให้ต่อเนื่อง จนกว่าเด็กจะสามารถแปรงฟันได้เอง
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเด็กปฐมวัย เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากปัญหาสุขภาพช่องปากเป็นหนึ่งในปัจจัย ทางชีวภาพด้านสุขภาพของเด็กปฐมวัย ซึ่งจากการศึกษาของกรมอนามัย เรื่องพัฒนาการของเด็กปฐมวัยไทยล่าสุด พบว่า เด็กปฐมวัยที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มีโอกาสที่จะพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่มีปัญหาสุขภาพช่องปาก และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประเทศไทย ยังคงพบความชุกของโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 ซึ่งปัญหาฟันผุ ส่งผลให้เด็กเจ็บปวดทรมาน เสียสุขภาพ กระทบต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก นอกจากนี้ ยังพบว่า การมีฟันผุหลายซี่ในปาก มีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ทำให้เด็กกินอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมาก จะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลาม และสูญเสียฟันในที่สุด
“การป้องกันฟันผุในเด็กเล็กที่ได้ผลดีที่สุด คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ ฟันน้ำนมซี่แรกเริ่มขึ้น ด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และแปรงฟันให้ต่อเนื่อง จนกว่าเด็กมีพัฒนาการข้อมือที่แข็งแรง ประมาณอายุ 7-8 ปี จึงจะสามารถแปรงฟันได้เอง โดยมีผู้ปกครองเน้นเรื่องความสะอาด และการแปรงฟัน เป็นประจำจนเป็นนิสัย ทั้งนี้ ควรนำเด็กปฐมวัยไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตบุคลากร หากประเมินแล้วพบว่าเริ่มมีความเสี่ยงฟันผุ จะได้รับคำแนะนำการดูแลสุขภาพช่องปาก เคลือบฟันด้วยฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง และนัดตรวจติดตามเป็นระยะ ๆ ทุก 3 เดือน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงวรางคณา เวชวิธี ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเสริมว่า สาเหตุหลัก ของการเกิดฟันผุในเด็กปฐมวัย เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม เช่น ปล่อยให้เด็กหลับคาขวดนมหลังจากฟันน้ำนมขึ้นในช่องปากแล้ว การให้เด็กกินขนม หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวานเป็นประจำ รวมถึงผู้ปกครอง ละเลยการแปรงฟันให้เด็กด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และสุขภาพช่องปากของเด็ก ในอนาคต เพราะการมีฟันน้ำนมผุลึก จะทำให้เด็กมีอาการปวดฟัน เคี้ยวอาหารไม่ได้ ร่างกายจะได้รับสารอาหาร ไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อการเจริญเติบโต เด็กจะมีน้ำหนักและส่วนสูงน้อย อีกทั้งอาการปวดฟันยังส่งผลให้เด็กนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีพัฒนาการบางด้านไม่สมวัย หรือมีพัฒนาการด้อยกว่าเด็ก ๆ ที่มีฟันดี ดังนั้น การดูแล สุขภาพช่องปากจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เด็ก เพื่อลดปัญหาฟันผุเมื่อโตขึ้น
***
กรมอนามัย / 11 มีนาคม 2565