ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี จัดงานสัมมนาลูกค้า SCG Chemicals Digest 2019 ภายใต้หัวข้อ “Circular Economy: The Better Way” ดึงภาครัฐ และองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการพลาสติกกว่า 400 คนได้ตระหนักและสามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การผลิต การบริโภค จนถึงการนำกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบใหม่ ซึ่งจะช่วยสร้างสมดุลให้กับธุรกิจ คุณภาพชีวิต และอนาคตโลกที่ยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร. สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมแสดงวิสัยทัศน์ของภาครัฐในการขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมพลาสติก นอกจากนี้ยังได้ บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (P&G) มาแลกเปลี่ยนเรื่องการพัฒนานวัตกรรมและการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด Circular Economy เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง สถาบันพลาสติกที่ได้เปิดมุมมองให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกวางแผนและออกแบบสินค้าให้หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า
ดร. สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางน้ำและอากาศ ตลอดจนการจัดการขยะ ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของผู้คนทั่วโลก กระทรวงฯ จึงเร่งขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Circular Economy โดยการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ล่าสุดกระทรวงฯ ได้ตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center: ITC) เพื่อวิจัยและพัฒนาการเปลี่ยนขยะหรือของเสียให้กลับมาเป็นวัตถุดิบหรือพลังงานทดแทน ลดปัญหาขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิด Circular Economy อย่างเป็นรูปธรรม แน่นอนว่า การพัฒนาสินค้าพลาสติกจากแนวคิด Circular Economy ไม่ใช่เรื่องของการทำ CSR หรือการกุศล แต่คือการนำนวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าตั้งแต่เริ่มออกแบบผลิตภัณฑ์ และสามารถนำสินค้ากลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในอีกรูปแบบที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะตอบโจทย์การแข่งขันในเชิงธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
ศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ Vice President – Polyolefins and Vinyl Business ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี เล็งเห็นว่ากระบวนการ Circular Economy จะสมบูรณ์ได้นั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและประชาสังคม นอกจากนวัตกรรมและการออกแบบสินค้าให้คงทนถาวร ใช้งานได้ยาวนานแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ การบริหารจัดการขยะ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยที่ผ่านมา เอสซีจี ได้ร่วมมือกับหลายองค์กรทั้งในและต่างประเทศเพื่อผลักดันให้เกิดการนำแนวคิด Circular Economy ไปใช้ให้แพร่หลายมากขึ้น ทั้งนี้ ยังริเริ่มโครงการเพื่อ ลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน เช่น ถนนพลาสติกรีไซเคิล เส้นแรกที่นิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล จ. ระยอง จากความร่วมมือทางเทคโนโลยี ระหว่างเอสซีจีและดาว เคมิคอล โครงการ Greenovative Lube Packaging นวัตกรรมพลาสติกรีไซเคิลจากแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วเพื่อผลิตเป็นแกลลอนใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและบางจาก คอร์ปอเรชั่น โครงการ Circular Life ซึ่งเน้นให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า คัดแยกขยะอย่างถูกต้อง โดยเริ่มต้นที่พนักงานเอสซีจี ภายในสำนักงานใหญ่ บางซื่อ ด้วยเวลาเพียง 3 เดือนสามารถเพิ่มปริมาณขยะที่หมุนเวียนไปใช้ให้เกิดประโยชน์จาก 5% เป็น 35% ซึ่งทุกโครงการที่กล่าวมา เอสซีจี ตั้งใจที่จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ และต่อยอด (Scale Up) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด
จุฑาภัทร บุณย์วงศกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า นอกจากพีแอนด์จีมีความมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแล้ว พีแอนด์จียังตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จึงได้พัฒนานวัตกรรมสินค้าตามแนวคิด Circular Economy ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดของเสียในกระบวนการผลิต ตลอดจนกระบวนการจัดการสินค้าที่สิ้นอายุการใช้งาน แบบ End to End ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ในส่วนของต้นน้ำ พีแอนด์จีได้คิดค้นให้สินค้ามีความเข้มข้นขึ้นเพื่อประหยัดการใช้ลงแต่ยังคงประสิทธิภาพการใช้งาน หรือปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลงเพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง เป็นต้น ในส่วนของปลายน้ำ พีแอนด์จี ได้ร่วมกับ Startup ในสหรัฐฯ นำของเสียจากการผลิตต่าง ๆ กลับมารีไซเคิล ความท้าทายของปลายน้ำจึงอยู่ที่การนำของเสียกลับมาหมุนเวียนในวงจรการผลิตใหม่ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่า Circular Economy จะช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการพลาสติกของไทยอย่างแน่นอน
ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก กล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกควรนำมาพิจารณาเพื่อประกอบธุรกิจตามแนวคิด Circular Economy คือ ในอนาคตการออกแบบสินค้าคงจบที่เป็นสินค้าไม่ได้ แต่ต้องคิดถึง End of Life ของสินค้าที่ไม่เป็นภาระของโลก นี่จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การบ้านที่สถาบันพลาสติกต้องทำคือ สร้างความรู้ในการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง และการจัดการขยะให้ถูกวิธี ซึ่งตอนนี้ได้ร่วมกับโครงการความร่วมมือ ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) และภาคเอกชนอีกหลายแห่ง และเชื่อว่าแนวคิด Circular Economy จะเป็นโอกาสที่สร้างการเติบโตให้ธุรกิจใหม่ได้ต่อไป
ทั้งนี้งานสัมมนาลูกค้า “SCG Chemicals Digest เป็นงานสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดมุมมองใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าของธุรกิจ เคมิคอลส์ เอสซีจี ในด้านการตลาด เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์ปิโตรเคมี ซึ่งจะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการธุรกิจของลูกค้าให้สามารถแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน
…………………………………………………………….