สช. ร่วมกับ อบจ.นครสวรรค์ กขป.เขตพื้นที่ 3, สาธารณสุขนครสวรรค์ และ สปสช เขต 3 จัดเสวนานโยบายสาธารณะ การพัฒนาระบบสุขภาพเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม กรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เขตพื้นที่ ณ ห้องประชุมเสือพ่นน้ำ แหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย นายก อบจ. นพ.สสจ. กขป.เขต 3 เครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร และภาคีเครือข่ายอื่น ๆ ที่สนใจ ทั้งทาง onsite และ online กว่า 200 คน โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ กล่าวถึงโอกาสและทิศทางการพัฒนาระบบสุขภาพเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม และนพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ร่วมเสวนาหัวข้อ การพัฒนาระบบสุขภาพเชิงพื้นที่แบบมีส่วนร่วม กรณีการถ่ายโอน รพ.สต.
พล.ต.อ.สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ (ประธานกขป. เขตพื้นที่ 3) เปิดเผยถึงแผนการบริหารจัดการว่า ทางอบจ.นครสวรรค์ ได้วางแผนการบริหารทรัพยากรต่างๆให้พร้อมเมื่อรพ.สต.ถูกโอนถ่ายมาให้อบจ.บริหารจัดการ มีการโครงสร้างและสร้างระบบที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง โดยประสานงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย รวมถึงมีการใช้พลังทางสังคมโดยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เบื้องต้นได้วางแผนการจัดเตรียมงบประมาณให้พอเพียงต่อการบริหารจัดการ รวมถึงการเตรียมกำลังคนเข้าไปสู่ รพ.สต.ที่แจ้งความประสงค์โอนย้ายในรอบแรกกว่า 101 แห่ง
ในช่วงของการร่วมแลกเปลี่ยน รศ.ดร.ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา วิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ คุยถึงเรื่องของกฎหมายที่ปรับตามบริบทของโลก All For Health คือต้องมีสุขภาพเป็นเป้าหมายสุดท้าย มุ่งให้เห็นถึงการใช้กฎหมายการถ่ายโอนที่ต้องปฏิบัติตาม และเกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ด้าน นพ.สมเกียรติ ขำนุรักษ์ สาธารณสุขนิเทศเขต 3 กล่าวถึงส่วนที่ต้องเน้น 2 เรื่องคือ
1.เรื่องของกฎหมายกระทรวง ทบวง กรม ด้านการดูแลสาธารณสุข
2.ระเบียบสำนักนายก พชอ. หรือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นกลไกที่สำคัญ
และพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ ที่ต้องมีการทำงานที่ครบวงจรและจายลงพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ยังกล่าวถึงเรื่องระบบข้อมูลระดับพื้นที่และระดับชาติ ที่ต้องเชื่อมโยงกัน เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม
ส่วน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงพลังของชุมชนที่เห็นเป็นรูปธรรม อาทิเช่น รพ.สต. และนายกอบต. ที่ทำสำเร็จในเรื่องของการจัดการและการมีส่วนร่วมของชุมชน หากมองในมุมของภูมิภาคแล้ว เห็นได้ชัดเรื่องของตัวอย่างดีๆ ของการจัดการในพื้นที่ โดยส่วนของ สช.ได้สนับสนุนในเรื่องขององค์ความรู้ กลไก กระบวนการ และเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญสุขภาพ”
ท้ายสุด นพ.ปรีดา ฝากถึงการทำงานร่วมกันของส่วนกลาง และความสำคัญของฉันทมติหรือข้อตกลงที่ชุมชนได้จัดทำขึ้นในเรื่องของสุขภาวะนำไปเป็นข้อบัญญัติจะทำให้เห็นถึงพลังของชุมชน ที่แท้จริง