กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนที่ใช้ชุดตรวจ ATK ไม่ควรทิ้งถังขยะทันที โดยแยกประเภทขยะ ชุดตรวจ ATK เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวพบมีผู้ทิ้งชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้แล้วลงถังขยะทั่วไป โดยไม่มีการผูกมัดถุงขยะให้มิดชิดหรือเขียนป้ายบอกเตือน ทำให้ประชาชนหวั่นเกิดการ แพร่เชื้อตามจุดทิ้งขยะต่าง ๆ นั้น เนื่องจากชุดตรวจ ATK ส่วนที่ปนเปื้อนสารคัดหลั่ง น้ำมูก หรือน้ำลาย ที่ใช้ทดสอบ ถือเป็นขยะติดเชื้อ ขอความร่วมมือประชาชนที่ซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง ไม่ควรทิ้งลงถังขยะทันที ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี ซี่งหากตรวจแล้วไม่ว่าจะขึ้น 2 ขีด หรือขีดเดียว ควรจัดการเหมือนกัน เพราะอาจเป็น ผลลบปลอม และอาจปนเปื้อนเชื้อโรคอื่น ๆ ด้วย โดยวิธีการกำจัดที่ถูกต้องให้ฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือราดด้วย ผงฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น แยกทิ้งกับขยะทั่วไปถ้าทำได้ โดยการทิ้งควรแยกเป็น 2 ส่วน คือ
1) ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง ที่ใช้ทดสอบ เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ ขยะประเภทนี้ ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไปที่มีฝาปิดมิดชิดได้เลย
2) ขยะที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งที่ใช้ทดสอบ เช่น ตลับหรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยดไม้ Swap ขยะประเภทนี้ถือเป็นขยะที่มีความเสี่ยงสูง ต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางการจัดการ ATK ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจาย ของเชื้อโรค แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1) กรณีในพื้นที่ หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวม ขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน ใส่ถุงขยะสีแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสขยะติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บขนขยะติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำขยะติดเชื้อไปกำจัด อย่างถูกต้องต่อไป
“2) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ หรือระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อเข้าไม่ถึง ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุขยะติดเชื้อแล้วให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ หรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากไฮเตอร์ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป โดยหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 6 มีนาคม 2565