ผ้าไหมของจังหวัดมหาสารคาม อาจจะไม่เป็นที่รู้จักเมื่อเทียบกับผ้าไหมของขอนแก่น หรือจังหวัดหลักในภาคอีสาน มหาสาร คราฟท์ จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อพัฒนารูปแบบและสร้างอัตลักษณ์ให้ผ้าไหม ในจังหวัดมหาสารคาม ทีมวิจัย นำโดยนักวิจัยหลัก รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล และสมาชิกสมาคมเพื่อการพัฒนาศิลปะและหัตถศิลป์ไทย ร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สนับสนุนทุนอุดหนุนการวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
โดย มหาสาร คราฟท์ เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่จัดขึ้น ณ ย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์ 1502 Srichan Creative Sharing Space ภายในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival 2022 จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ มหาสาร คราฟท์ มาจากคำว่า มหาสารคาม และคำว่า คราฟท์ อีกทั้งยังแฝงถึง ต้นสาละ ซึ่งเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดมหาสารคาม
มหาสาร คราฟท์ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจทุนวัฒนธรรมเดิมให้สอดคล้องกับฐานผู้บริโภคกลุ่มต่างๆและสร้างเอกลักษณ์ให้กับผ้าทอ โดยจัดทำชุดสีต้นแบบแพนโทนของจังหวัดมหาสารคาม อีกทั้งยังใช้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการสกัดสีจากวัสดุจากธรรมชาติ อาทิเช่น ฝาง และครั่ง เพื่อให้ได้สีต้นแบบ หนึ่งในสีอัตลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม โดยทำเป็นผงสี ทำให้การย้อมสีธรรมชาติสามารถทำได้ง่าย เทียบเท่าสีเคมี
อีกทั้ง ผ้าขาวม้า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแทบทุกจังหวัดในประเทศทุกจังหวัด และได้มีการสร้างอัตลักษณ์ใหม่เพื่อให้เป็นที่จดจำให้กับจังหวัดมหาสารคาม
นิทรรศการครั้งนี้จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2565 ณ ย่านสร้างสรรค์ศรีจันทร์ 1502 Srichan Creative Sharing Space ชั้น 3 ภายในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ หรือ Isan Creative Festival 2022 จังหวัดขอนแก่น