พช.นครศรีธรรมราช รุดหน้าลงพื้นที่ ติดตามสนับสนุนการดำเนินงาน “โคก หนอง นา พช.” เน้นย้ำวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ สร้างงานให้เกิดความสำเร็จต่อพื้นที่และประชาชนอย่างแท้จริง
วันที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 13.30 น. นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ติดตามสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 อำเภอพระพรหม ซึ่งมีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5 ครัวเรือน แบ่งออกเป็นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 1 แปลง และขนาด 3 ไร่ จำนวน 4 แปลง เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 461,200 บาท พร้อมนี้ได้เข้าพบ ว่าที่ร้อยตรีศรายุทธ เจียรมาศ นายอำเภอพระพรหม เพื่อหารือการดำเนินงานตามภารกิจสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพระพรหม โดยมี นางวันดี คงคุ้ม พัฒนาการอำเภอพระพรหม พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอพระพรหม ให้การต้อนรับและรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช
เวลาต่อมา พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช พบปะ นายสมเกียรติ รักสถาน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ เพื่อหารือการดำเนินงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ในพื้นที่ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ ต่อมาได้ติดตามการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ร่วมกับเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งอำเภอร่อนพิบูลย์ มีครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 11 ครัวเรือน แบ่งออกเป็นพื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 5 แปลง และขนาด 3 ไร่ จำนวน 6 แปลง เป็นเงินงบประมาณ จำนวน 850,000 บาท โดยมี นางสาวรุ่งรัตน์ ช่วยเนื่อง พัฒนาการอำเภอร่อนพิบูลย์ พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอร่อนพิบูลย์ ให้การต้อนรับและรายงานผลความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว ณ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับการอนุมัติดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 จำนวน 7,247,600 บาท โดยมีกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่เรียนรู้ชุมชน 94 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่ขนาด 1 ไร่ จำนวน 43 แห่ง และพื้นที่ขนาด 3 ไร่ จำนวน 51 แห่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหรือพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชน ในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” ระดับหมู่บ้าน ให้สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในการดำเนินวิถีชีวิตพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประกอบอาชีพต่างๆ ตามภูมิสังคม เช่น การปลูกพืชสวนหรือพืชไร่ การเลี้ยงสัตว์ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการสร้างรายได้ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงดิน การใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
ทั้งนี้ นายวัชระ ธรรมปัญญาสกุล พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้สอบถามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน เพื่อให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งมอบแนวทางการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ในการสร้างการรับรู้ การทำความเข้าใจแก่ครัวเรือนเป้าหมายให้เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น เน้นย้ำให้บุคลากรวางแผนการทำงานให้เป็นระบบ หากวางแผนดีเราจะก้าวไปก่อนงาน การทำงานก็จะเกิดผลสำเร็จ ไม่ใช่แค่แล้วเสร็จแต่ไม่เกิดประโยชน์อะไรกับพื้นที่ ต้องหมั่นเรียนรู้ข้อกำหนด เงื่อนไข หลักการ วิธีการ ตลอดจนระเบียบวิธีการดำเนินงานตามแนวทางที่กรมฯ ให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ที่สำคัญ คือ ต้องรายงานความจริงให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จังหวัดจักได้ร่วมแก้ปัญหา เพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และทิ้งท้ายด้วยการให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในการดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จ และสามารถพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจได้ต่อไป