ผู้ว่าอุบลฯ ควง 2 รองฯ ปลดหนี้! ครัวเรือนยากจน พร้อมให้กำลังใจทีมปฏิบัติการและทีมพี่เลี้ยงเพื่อขจัดความยากจน

ผู้ว่าอุบลฯ ควง 2 รองฯ ปลดหนี้! ครัวเรือนยากจน พร้อมให้กำลังใจทีมปฏิบัติการและทีมพี่เลี้ยง เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต.แก้งเหนือ อ.เขมราฐ

ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน จนถึงระดับพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ.อ. เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จสิ้นในระดับอำเภอ โดยประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่

1)ด้านสุขภาพ เช่น การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง

2)ด้านความเป็นอยู่ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย

3)ด้านการศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ 4)ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่

5)ด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง

จังหวัดอุบลราชธานี มีกลุ่มเป้าหมายที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและรับรองข้อมูลจากทั้ง 25 อำเภอในจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จำนวน 7,614 ครัวเรือน 11,666 คน แยกเป็นรายมิติ ดังนี้ มิติด้านสุขภาพ ​​​จำนวน 2,094 ครัวเรือน 2,970 คน มิติด้านความเป็นอยู่ ​​จำนวน 1,884 ครัวเรือน 3,275 คน มิติด้านการศึกษา​​​จำนวน 1,162 ครัวเรือน 1,202 คน มิติด้านรายได้ ​จำนวน 2,537 ครัวเรือน 3,292 คน มิติด้านการเข้าถึงบริการรัฐ จำนวน 337 ครัวเรือน 571 คน และมิติด้านอื่นๆ​ ​​จำนวน 1,629 ครัวเรือน 2,226 คน

ซึ่งศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อำเภอเขมราฐ (ศจพ.อ.) ได้ดำเนินการตรวจสอบบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP และผลการดำเนินงานตรวจสอบพบว่ามีครัวเรือนตกเกณฑ์ TPMAP 88 ครัวเรือน พบสภาพปัญหา 13 ครัวเรือน ส่วนครัวเรือนกลุ่มเปราะบางจำนวน 5,987 ครัวเรือน มีครัวเรือนที่พบสภาพปัญหา 62 ครัวเรือน ทำให้มีครัวเรือนเป้าหมายในพื้นที่อำเภอเขมราฐ รวมทั้งสิ้น 75 ครัวเรือน

โดยในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 เวลา 09.00 น. นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.จ) อุบลราชธานี พร้อมด้วย นายสมเพชร สร้อยสระคู นายทรงพล วิชัยขัทคะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี นายพิสดาร ประดา พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี นายธงชัย ครุฑแสน ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน นักวิชาการพัฒนาชุมชน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อบูรณาการความร่วมมือและให้กำลังใจตลอดจนให้คำแนะนำทีมพี่เลี้ยง พร้อมเยี่ยมเยือนครัวเรือนเป้าหมายตามโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 1 ราย ได้แก่ นางทองพูล สืบลา บ้านเลขที่ 99 บ้านสนมหมากหญ้า หมู่ที่ 4 ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ นางมะลิวัลย์ ปูคะธรรม พัฒนาการอำเภอเขมราฐ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ร่วมต้อนรับและให้การสนับสนุนการดำเนินงาน

สำหรับครัวเรือนยากจนเป้าหมาย นางทองพูล สืบลา อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 4 บ้านแก้งเหนือ ตำบลแก้งเหนือ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีสมาชิกในครัวเรือน 2 คน ตกเกณฑ์ในด้านรายได้ ด้านสุขภาพ และด้านความเป็นอยู่ ไม่มีที่ทำกิน และบุตรสาวมีปัญหาด้านสุขภาพไม่สามารถประกอบอาชีพได้ มีเพียงรายได้หลักจากเบี้ยคนพิการ เดือนละ 800 บาท ซึ่งการช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมายเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในครั้งนี้ นายสะอาด วงศ์รักษ์ นายอำเภอเขมราฐ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.อ.) เขมราฐ นางมะลิวัลย์ ปูคะธรรม พัฒนาการอำเภอเขมราฐ พัฒนากรประสานงานตำบล ผู้นำอาสาพัฒนาชุมชน (ผู้นำ อช.) ตำบลแก้งเหนือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแก้งเหนือ ผอ.รพสต.แก้งเหนือ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในฐานะทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ได้นำเสนอแนวทางการดำเนินงานในเบื้องต้น โดยได้มีการให้ความรู้เรื่องแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การสนับสนุนเมล็ดพันธ์ุพืชผัก ปรับพื้นที่บริเวณรอบบ้านเพื่อปลูกผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ การบริหารจัดการชีวิต รวมถึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการเดินทางสัญจรไปตรวจสุขภาพและรับยารักษาโรคที่โรงพยาบาลในตัวอำเภอ การซ่อมแซมบ้านพักที่อยู่อาศัยจากสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตลอดจนการจัดกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือและปรับภูมิทัศน์ครัวเรือนยากจนโดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและฝ่ายปกครองในพื้นที่ตำบลแก้งเหนืออีกด้วย

นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ผู้แทนนายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี และพัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ยังได้มอบถุงยังชีพและสิ่งของอุปโภคบริโภค และเงินจำนวน 3,000 บาท จากเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมเงินส่วนตัวอีก 8,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 11,000
บาท เพื่อบรรเทาปัญหาเบื้องต้นและปลดหนี้สินให้แก่ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ซึ่งมีอยู่ 9,000 บาท สร้างความตื้นตันใจแก่ครัวเรือนเป้าหมายนางทองพูล สืบลา เป็นอย่างยิ่ง

ท้ายที่สุด ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้มอบแนวทางการดำเนินงานและกล่าวให้กำลังใจกับทีมปฏิบัติการฯ และทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ว่า “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับประชาชนชาวไทย ในวันนี้จึงถือโอกาสมาให้กำลังใจทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่และทีมพี่เลี้ยงในชุมชน ตลอดจนเยี่ยมครัวเรือนยากจนเป้าหมาย ซึ่งทางจังหวัดอุบลราชธานี ในฐานะศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับจังหวัด (ศจพ.จ.) ได้ร่วมกับศูนย์อำนวยการปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แต่งตั้งทีมพี่เลี้ยง ทีมปฏิบัติการระดับตำบล และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในหมู่บ้าน มาร่วมกันกำหนดแผนครัวเรือนให้กับครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อที่จะได้ทราบว่าครัวเรือนนั้นๆ มีปัญหาความต้องการอะไร และตกเกณฑ์ในมิติใดบ้าง แล้วนำเมนูความช่วยเหลือครัวเรือนที่เกิดจากการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการในจังหวัดอุบลราชธานี มาช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้ได้ตรงกับปัญหาความต้องการของครัวเรือนเป้าหมายต่อไป ซึ่งการดำเนินงานในลักษณะนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืนตรงจุด จึงขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะทีมพี่เลี้ยง ที่ต้องมีความแม่นยำในเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการช่วยเหลือด้านต่างๆ เช่น การขอรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการรัฐอื่นๆ โดยขอให้มีการจัดสรรจำนวนครัวเรือนที่รับผิดชอบต่อทีมพี่เลี้ยงให้เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป เพื่อที่จะช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง เมื่อการดำเนินงานเป็นไปอย่างแม่นยำและชัดเจน ก็จะทำให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี”