” กรมปศุสัตว์ เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังและสังเกตอาการของ สัตว์เลี้ยงช่วงฤดูแล้ง พร้อมให้ความช่วยเหลือและเตรียมเสบียงสัตว์กว่า 6,000 ตัน “

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์  เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทุกหน่วยงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ  ให้ความสำคัญ กับการป้องกันและช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง โดยให้คำแนะนำการดูแลสัตว์เลี้ยง  เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้อาหารสำหรับสัตว์มีจำนวนน้อยลง ประกอบกับอากาศร้อน และการขาดน้ำ เป็นสิ่งกระตุ้น และมีผลให้สัตว์เกิดความเครียดเพิ่มขึ้น  ระดับภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น กรมปศุสัตว์ จึงได้เตรียมพร้อมรับมือโรคสัตว์ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ เช่นโรคปากและเท้าเปื่อย  โรคคอบวมในโค – กระบือ โรคสเตรปโตคอกคัสซูอิส โรคท้องร่วง และโรคปากและเท้าเปื่อยในหมู โรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข แมว ส่วนสัตว์ปีก ให้เกษตรกรระมัดระวังโรคในสัตว์ปีก และประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรเฝ้าระวัง และสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ หากพบอาการผิดปกติ ให้รีบแยกสัตว์ป่วย และแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทราบทันที เพื่อดำเนินการควบคุมโรค. รวมทั้งมีการออกหน่วยบริการสัตวแพทย์เคลื่อนที่ รณรงค์บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัข แมว เกษตรกรควรให้ความร่วมมือกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ให้ถูกวิธี และครบถ้วน รวมทั้งการถ่ายพยาธิให้สัตว์เลี้ยงด้วย นอกจากนี้ในช่วงนี้จะพบแมลงจำนวนมาก โดยเฉพาะแมลงดูดเลือด เช่น เหลือบ และแมลงวันคอก ซึ่งเป็นพาหะของโรคพยาธิในเลือดโค-กระบือ ต้องใช้ยาที่จำเพาะในการรักษา ซึ่งเกษตรกรอาจป้องกันได้โดยการทำมุ่งบริเวณคอกเลี้ยงสัตว์. กำจัดมูลและทำความสะอาดคอกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ การซื้อโค-กระบือจากตลาดนัดค้าสัตว์ ควรมีการกักไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อดูอาการ ก่อนปล่อยรวมฝูง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาด สำหรับฟาร์ม หรือโรงเลี้ยงสัตว์ควรปรับให้มีอากาศถ่ายเท และอยู่ในที่ร่ม ส่วนการดูแล ไก่ เป็ด และหมู ควรเพิ่มวิตามินละลายน้ำ เพื่อให้สัตว์มีร่างกายแข็งแรง ด้านเสบียงสัตว์ กรมปศุสัตว์  ได้เตรียมไว้สำหรับให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย มากกว่า 6,000 ตัน แยกเป็น หญ้าแห้ง  4,974 ตัน หญ้าสด 348 ตัน และหญ้าหมัก 812 ตัน เก็บสำรองไว้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 32 แห่ง และคลังเสบียงอาหารสัตว์ประจำตำบล ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีรถบรรทุกขนเสบียงอาหารสัตว์ จำนวน 201 คัน เวชภัณฑ์ดูแลสุขภาพสัตว์พร้อมหน่วยสัตว์แพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 100 หน่วย  และ ถุงยังชีพสำหรับสัตว์จำนวน 3,000 ชุด

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  ขอเตือนเกษตรกรให้ระมัดระวังโรคระบาดสัตว์ในช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้เตรียมพร้อมเสบียงสัตว์ไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง. หากเกษตรกรมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำในการดูแลสุขภาพสัตว์ หรือได้รับความเดือดร้อน จากภัยแล้ง สามารถติดต่อรับคำปรึกษา และขอรับการช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ. สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด. ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ประจำเขต 1-9 ใกล้บ้าน หรือ ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ โทร 02-6534444 ต่อ 3315  หรือแอพพลิเคชั่น DLD 4.0

********************************

ข้อมูล/ข่าว :  ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านปศุสัตว์ กองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ โทร : 02-653-4553 หรือ