จังหวัดมหาสารคาม จัดพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา”

วันพฤหัสบดี ที่ 3 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ศาลากลางน้ำ วัดขุนพรหมดำริ บ้านอุปราช ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม พร้อมด้วยนางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานพิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แด่พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม นายอำเภอและนายกกิ่งอำเภอหรือผู้แทน พัฒนาการอำเภอ ทั้ง 13 อำเภอ และผู้แทนกลุ่มทอผ้า เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาลายผ้าให้กับกลุ่มทอผ้าทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้า ตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น

โอกาสนี้ นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม ได้เปิดกรวยถวายเครื่องราชสักการะ เบื้องหน้า พระรูปสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และกล่าวสำนึกใน พระกรุณาธิคุณ ใจความตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงอุทิศพระองค์ปฏิบัติบำเพ็ญพระกรณียกิจนานัปการ เพื่ออำนวยประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสาน พระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่ยั่งยืนตลอดไป ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงต่อยอดผสมผสานมุมมองด้านแฟชั่นที่ร่วมสมัย แต่ยังคงไว้ซึ่งการสืบสานอัตลักษณ์ เรื่องราวประจำภูมิภาค เป็นคุณูปการอย่างยิ่งแก่ปวงชนคนไทย”

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของชาวจังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้เสด็จพระราชดำเนิน ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ทรงเป็นประธานงานเสวนาวิชาการ “หนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย เล่มที่ 2” ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการกลุ่มทอผ้าไหม การจัดแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไทย งานหัตถกรรมชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 นายเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม และนางพรศรี ตรงศิริ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมหาสารคาม ร่วมพิธีรับมอบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้เชิญแบบลายผ้าขิดพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” มอบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดและประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเต็ล อะ ลักชัวรี โฮเต็ล แบ็งค็อก เขตปทุมวัน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นของขวัญให้กับช่างทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค นำไปทอผ้า ผลิตผ้าตามอัตลักษณ์ภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นทั่วประเทศ ทรงออกแบบผ้าลายพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” โดยได้รับแรงบันดาลพระทัยจาก “ผ้าขิดลายสมเด็จ” ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระราชทานแก่ราษฎร อันเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย โดยแต่ละลวดลายมีความหมายที่ลึกซึ้ง แสดงถึงความตั้งพระทัยมั่นของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชกรณียกิจ ของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน โดยแต่ละลวดลายมีความหมาย ได้แก่

“ลาย S ที่ท้องผ้า” หมายถึง สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาผ้าไทย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้ทรงออกแบบให้เว้นช่องว่างไว้ เพื่อให้ราษฎรได้ร่วมถักทอลวดลายของตนเองลงในช่องว่าง เป็นการสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวจากแต่ละท้องถิ่น โดยลายขิดที่เป็นกรอบล้อมรอบตัว S นี้ หมายถึงความจงรักภักดีที่ชาวไทยมีต่อพระบรมราชจักรีวงค์

“ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ” หมายถึง ความรักของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อปวงชนชาวไทย

“ลาย S ประกอบกับลายขิดที่เชิงผ้า” หมายถึง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงปรารถนาให้คนไทยอยู่ดีมีสุข

“ลายต้นสนที่เชิงผ้า” หมายถึง พระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของโครงการศิลปาชีพฯ อันลายต้นสนนี้ เป็นลวดลายพื้นถิ่นที่ถักทออยู่บนผืนผ้าของบ้านนาหว้า จังหวัดนครพนม ที่ซึ่งเป็นจุดกำเนิดโครงการศิลปาชีพฯ

“ลายหางนกยูงที่เชิงผ้า” หมายถึง ความตั้งพระทัยมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จย่าของพระองค์ ในการฟื้นคืนภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดิน

และหวังว่าการขับเคลื่อนผ้าไทยครั้งนี้ผู้ที่มีฝีมือในเชิงช่างศิลปหัตถกรรม กลุ่มทอผ้า ได้นำไปเป็นต้นแบบและสามารถรังสรรค์ผลงานพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ความยั่งยืน สร้างสรรค์ชุมชน สร้างคน สร้างชาติต่อไป