วว. /อบจ. นครพนม ผนึกกำลังนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม แก้ไขปัญหาผักตบชวา สร้างอาชีพอย่างยั่งยืน พร้อมขยายผลให้ทุกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นศูนย์ปฏิบัติการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม ลงนามความร่วมมือในโครงการนำผลงานวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปแก้ไขปัญหาผักตบชวาและสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในจังหวัดนครพนม ครอบคลุมพื้นที่ 855 ไร่ ซึ่งประสบปัญหาการกำจัดผักตบชวาในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้ร่องน้ำตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำท่วม/เน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการขนส่งคมนาคมทางน้ำและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี โอกาสนี้ นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. นายสมเกียรติ ศิริตัน ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม พร้อมผู้บริหาร บุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมกิจกรรม ในวันที่ 1 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคาร Admin วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี
ขอบเขตความร่วมมือของโครงการฯ มุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำในเขตพื้นที่ จ.นครพนม ให้เป็นแหล่งน้ำที่มีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมกันผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปพัฒนาทักษะแรงงานและการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้และสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในจังหวัดนครพนมและพื้นที่ใกล้เคียง
ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว วว. โดย ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (ศคช.) และ อบจ.นครพนม มุ่งเน้นดำเนินงาน 2 เป้าหมายหลัก คือ เป้าหมายเชิงปริมาณ ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติหรือลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนมที่มีผักตบชวาและวัชพืชถูกกำจัดด้วยวิถีทางธรรมชาติโดยใช้สารสกัดอินทรีย์ จุลินทรีย์ธรรมชาติ ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แทนการใช้เครื่องจักรกล เพี่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช โดยนำสมุนไพร/พืชผัก ผลไม้จากพื้นที่ เช่น สับปะรด กระเทียม มะนาว มะกรูด มะม่วงหาวมะนาวโห่ หรือพืชที่มีรสเปรี้ยว เป็นต้น ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fatty Acid) และมี เรซิดีวของกรดอะมิโน (Amino Acid) นำมาพัฒนาเป็นสารสกัดสมุนไพรสำหรับกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยใช้จุลินทรีย์เป็นตัวกระตุ้นการทำงาน จะช่วยออกฤทธิ์ในการสกัดการสังเคราะห์แสง จากใบจนถึง ราก-เมล็ด-ไหล ของผักตบชวา ภายใน 45 วัน และ เป้าหมายเชิงคุณภาพ ทำให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีคุณภาพ
“…จากการวิจัยและทดสอบการกำจัดผักตบชวาด้วยจุลินทรีย์ชีวภาพของ วว. และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พบว่า สภาพผักตบชวาเมื่อมีการฉีดพ่นสารสกัดชีวภาพ ซากผักตบชวาเน่าเปื่อยและจมลงก้นบ่อภายในระยะเวลา 30 วัน คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีค่าคุณภาพแหล่งน้ำผิวดินไม่เกินกว่า 100 มิลลิกรัม/ลิตร ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างสัตว์น้ำไม่เกินค่ามาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จากองค์ความรู้นี้เชื่อมั่นว่าการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือจะประสบผลสำเร็จและต่อยอดงานวิจัยสู่การนำไปประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆของประเทศต่อไป ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการในลักษณะจตุภาคี หรือ Quadruple Helix ที่เป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานการวิจัย การศึกษา จังหวัด และ ชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการขยายผลไปข้างหน้าและนำไปสู่การพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน…” ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว
นางสาวศุภพานี โพธิ์สุ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของจังหวัดนครพนมดำรงชีพด้วยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพิงน้ำจากธรรมชาติ มักจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งและปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำ ซึ่งทำให้การระเหยของน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติถึง 3-5 เท่า ทำให้น้ำเน่าเสีย และทำให้เกิดการตื้นเขินของแหล่งน้ำ แม้ว่าจังหวัดนครพนมจะตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงและพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาต่างๆ ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของประชาชน และเป็นอุปสรรคสำคัญที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับ วว. ในครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดเป็น “นครพนมโมเดล” ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช โดยใช้สารสกัดจากสมุนไพร และจะขยายผลให้ทุกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นศูนย์ปฏิบัติการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ประเทศชาติ อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับคำแนะนำปรึกษาจาก ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Research Centre; BRC) วว. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 2577 9000, 0 2577 9058 และ 0 2577 9059 โทรสาร 0 2577 9058 E-mail : brc@tistr.or.th และ ID Line : @brc_tistr