วว. /วช. มอบเครื่องสไลด์เห็ดหลินจือสดให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา ช่วยลดขั้นตอนกระบวนการผลิต/ทดแทนแรงงาน ได้ผลิตภัณฑ์สม่ำเสมอมีคุณภาพ

ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา   เอี่ยมโชติชวลิต   ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย  (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา   วิทยาศาสตร์   วิจัยและนวัตกรรม   (อว.)  มอบเครื่องสไลด์เห็ดหลินจือสด  ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)  ให้แก่ ดร.สุเมธ  ตันติเวชกุล   กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา  เพื่อนำไปช่วยลดขั้นตอนกระบวนการสไลด์เห็ดหลินจือของมูลนิธิฯ  ทดแทนการใช้แรงงานคน  ทำให้ชิ้นงานของผลิตภัณฑ์สม่ำเสมอ  สะอาด  ปลอดภัย  ได้มาตรฐาน   โอกาสนี้  นายสายันต์   ตันพานิช  รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวิภาพ  วว.   ดร.ยุพิน   เลิศบุรุษ  หัวหน้าฝ่ายพัฒนาเชิงพื้นที่และชุมชน วช. พร้อมทั้งผู้บริหารและบุคลากรทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ  ในวันที่ 25  กุมภาพันธ์ 2565  ณ มูลนิธิชัยพัฒนา  เขตบางพลัด กรุงเทพฯ

ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า  วว.  ได้รับโอกาสจากมูลนิธิชัยพัฒนาในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม คือ เครื่องสไลด์เห็ดหลินจือสด  ผลงานวิจัยและพัฒนาของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ วว.  ไปสนับสนุนการดำเนินงานใน โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ณ ต.โป่งน้ำร้อน  อ.ฝาง จ. เชียงใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าเห็ดหลินจือสายพันธุ์ Ganaderma  Casuarinicola ) ซึ่งเป็นพืชที่มูลนิธิชัยพัฒนาส่งเสริมในโครงการ  โดยมีประสิทธิภาพช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการสไลด์เห็ดหลินจือด้วยแรงงานคน  เนื่องด้วยเห็ดหลินจือมีคุณลักษณะที่เหนียวและหนึบทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องออกแรงเฉือนค่อนข้างสูงในการสไลด์แบ่งชิ้นเห็ด  อีกทั้งรูปทรงของชิ้นเห็ดยังมีขนาดไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ไม่สามารถควบคุมขนาดความหนาของชิ้นเห็ดที่ต้องการสไลด์ได้ นอกจากนี้ วว. ยังดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนาในการพัฒนาศักยภาพการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเห็ดแบบครบวงจร เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพชุมชนและท้องถิ่นอย่างมั่นคงและยั่งยืน

“… การมอบเครื่องสไลด์เห็ดหลินจือให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือในโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และผลผลิตด้านการเกษตรของมูลนิธิชัยพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  เมื่อปี 2562 และดำเนินงานร่วมกันจวบปัจจุบัน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการตามยุทธศาสตร์ของทั้งสองหน่วยงาน ในการสนับสนุนและเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรของชุมชนหรือท้องถิ่นอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด…”  ผู้ว่าการ วว.   กล่าว

เครื่องสไลด์เห็ดหลินจือสด   มีกำลังการผลิต  50-100 กิโลกรัมต่อชั่วโมง  (ขึ้นอยู่กับขนาดชิ้นเห็ด)  มีประสิทธิภาพช่วยลดขั้นตอนในกระบวนการสไลด์เห็ดหลินจือด้วยแรงงานคน   และสามารถสไลด์สมุนไพรชนิดอื่นได้  เช่น ขิง ข่า ขมิ้น กระชาย เป็นต้น  มี  3  ส่วนประกอบหลัก คือ

1.ชุดใบมีดสไลด์เห็ด ออกแบบให้สามารถปรับขนาดความหนา-บาง ของชิ้นเห็ดได้ ตั้งแต่ 5-10 มิลลิเมตร และสามารถถอดเปลี่ยนชุดใบมีดได้ง่าย

2.ระบบสายพานลำเลียง  สามารถลำเลียงชิ้นเห็ดได้อย่างต่อเนื่องและแม่นยำ มีความทนทานสูง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย

3.ชุดควบคุมไฟฟ้า  แบบแยกส่วน ระหว่างชุดใบมีดสไลด์เห็ดและสายพานลำเลียง  สามารถปรับรอบใช้งานได้อย่างอิสระ  หลักการทำงาน   เริ่มต้นโดยเปิดสวิทช์ควบคุมไฟฟ้าชุดใบมีดสไลด์เห็ดและสายพานลำเลียง จากนั้นวางชิ้นเห็ดบริเวณสายพานลำเลียงอย่างต่อเนื่อง โดยชิ้นเห็ดจะเคลื่อนที่ผ่านชุดใบมีดสไลด์ เพื่อตัดแบ่งชิ้นเห็ดให้มีขนาดความหนาเท่าๆกัน ตามที่ต้องการ

นายสายันต์   ตันพานิช   รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ   กล่าวถึงผลการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของ วว. และมูลนิธิชัยพัฒนาว่า การดำเนินงานในปี 2562 ถึงปัจจุบัน  มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่  การพัฒนาเครื่องลดความชื้นข้าว  การพัฒนาเครื่องสำอางจากชาน้ำมัน  การปลูกวานิลลาในพื้นที่สูง  และการพัฒนาเครื่องสไลด์เห็ดหลินจือสด โครงการในอนาคตที่ วว. จะทำงานร่วมกับมูลนิธิชัยพัฒนาในการเพิ่มมูลค่าเห็ดหลินจือ  ได้แก่   โครงการพัฒนากระบวนการสกัด   โครงการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ โครงการทดสอบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองของเห็ดหลินจือ  และโครงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง  โดยทั้ง  4  โครงการได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช.  เพื่อการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม  รับคำแนะนำปรึกษา และรับบริการด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม จาก วว.  ติดต่อได้ที่  โทร. 0 2577  9000 , 0 2577  9133   (วีรยุทธ์  พรหมจันทร์)  โทรสาร  0 2577  9009  เว็บไซต์ www.tistr.or.th  อีเมล tistr@tistr.or.th  Line@TISTR  IG : tistr_ig