กรมอนามัย ร่วมกับเครือข่าย ยกร่างมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ เทียบเคียงมาตรฐานระดับโลก

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับภาคีเครือข่าย ประชุมวิพากษ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่เทียบเคียงมาตรฐานระดับโลก เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพนักเรียนในโรงเรียน และสร้างมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ (New Health Promoting School Plus Health Literacy : New HPS Plus HL) พร้อมพัฒนาศักยภาพเด็กไทย

​วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการวิพากษ์มาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ ณ โรงแรมทีเคพาเลซ & คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยได้กำหนดนโยบายในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยมีเป้าหมายหลักในการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตและเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาศักยภาพเด็กวัยเรียนวัยรุ่นเป็นการวางรากฐานโครงสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด โดยการพัฒนาเด็กจำเป็นต้องพัฒนาสุขภาพควบคู่ไปพร้อมกับการศึกษา ภายใต้กลยุทธ์โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาทักษะที่จำเป็น ของเด็กในศตวรรษที่ 21 ตามแนววิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และวิถีชีวิตถัดไป (Next Normal) เพื่อให้เด็ก มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ มีจริยธรรมในการดำรงชีวิต มีจิตสาธารณะ พึ่งพาตนเองได้ และใช้ชีวิตในสังคม ได้อย่างมีความสุข

​นายแพทย์สราวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมอนามัยร่วมกับภาคีเครือข่ายได้ยกระดับมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพตามแนวทางมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพระดับโลก (WHO) ฉบับใหม่ ภายใต้ความสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย รวมถึงการส่งเสริมให้เด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ โดยความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้มีการยกร่างมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ 10 องค์ประกอบ ดังนี้

1) นโยบาย และทรัพยากร

2) การขับเคลื่อนโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพในศตวรรษที่ 21

3) การมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนชุมชนและภาคประชาสังคม

4) โรงเรียนคือองค์กรแห่งความสุข

5 ) สิ่งแวดล้อมปลอดภัย โรงเรียนปลอดโรค

6) อนามัยโรงเรียนสู่นักเรียนสุขภาพดี

7) กระบวนการเรียนรู้สู่เด็กไทยในศตวรรษที่ 21

8) โภชนาการดี อาหารปลอดภัย เด็กไทยสุขภาพดี

9) กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพดี

10) บุคคลต้นแบบด้านสุขภาพในโรงเรียน

นอกจากนี้ ยังมีด้านผลลัพธ์สุขภาพนักเรียน 6 ตัวชี้วัด คือ

1) ภาวะโภชนาการ

2) นักเรียนปราศจากฟันผุ

3) สมรรถภาพทางกาย

4) นักเรียนที่มีปัญหาด้านพฤติกรรม อารมณ์ สังคม ได้รับการดูแลช่วยเหลือ

5) นักเรียนที่ได้รับการเจ็บป่วยในโรงเรียนที่ทำให้ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล

6) นักเรียนมีความรอบรู้ ด้านสุขภาพ

​“การประชุมในครั้งนี้ จึงเป็นการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคีเครือข่ายต่อมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพที่ได้มีการยกร่างขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียนและสร้างมาตรฐานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพแนวใหม่ (New Health Promoting School Plus Health Literacy : New HPS Plus HL) รวมถึงพัฒนาศักยภาพเด็กไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 23 กุมภาพันธ์ 2565