ครม.รับทราบผลการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ “เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” พัทลุง ครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1 ล้านคน ช่วยเหลือศิลปินพื้นบ้าน 14 คณะ กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดรายได้แก่ผู้ประกอบการ 104 ราย รวมกว่า 50 ล้านบาท
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ที่ประชุมครม.รับทราบวีดิทัศน์และผลการจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคใต้ “เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” วันที่ 10 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ “โนรา” ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ จากยูเนสโก (UNESCO) ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เสนอ ซึ่ง วธ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งภาคใต้ถือเป็นภาคแรก เพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมทุกภูมิภาคจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ถือเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของวธ.“วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า กิจกรรมงานมหกรรมแห่งชาติฯภาคใต้ ประกอบด้วยพิธีไหว้ครูโนราและการรำโนราฉลอง ณ วัดท่าแค อำเภอเมืองพัทลุง และกิจกรรม“เรียนรู้วิถีคนเมืองลุง” ณ แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมนาโปแก อำเภอควนขนุน ภายในแหล่งเรียนรู้นี้มีนิทรรศการอัตลักษณ์ท้องถิ่นและวิถีชีวิตของคนเมืองพัทลุง จำนวน 5 สถานี ได้แก่ อัตลักษณ์ถิ่นพัทลุง ปรุงอาหารเป็นยา รักษ์คุณค่าสมุนไพร ทำนาเชิงอนุรักษ์ และสานศักดิ์ศรีงานศิลป์ และงาน“เสน่ห์เมืองหนังโนรา รังสรรค์ศิลป์ถิ่นใต้” ณ ตลาดน้ำทะเลน้อย อำเภอควนขนุน ที่มุ่งส่งเสริมและเปิดพื้นที่ให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้านแขนงต่างๆ ได้มีโอกาสถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมการแสดงและมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นไปสู่เยาวชนและประชาชน รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้มีพื้นที่นำสินค้าผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย(CPOT) สินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชนคุณธรรมฯ มาสาธิตและจำหน่าย รวมทั้งมีนิทรรศการและเสวนาทางวิชาการอย่างหลากหลาย มีเด็กและเยาวชน ประชาชน นักท่องเที่ยวสนใจเข้าร่วมชมงานอย่างต่อเนื่อง
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ผลของการจัดงานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน ผู้ร่วมชมผ่านระบบออนไลน์ และทุกช่องทางกว่า 1,000,000 คน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและช่วยเหลือเยียวยาศิลปิน ศิลปินพื้นบ้านแขนงต่างๆ 14 คณะ รวมกว่า 300 คน อีกทั้งก่อให้เกิดรายได้แก่ผู้ประกอบการอาหาร ผลิตภัณฑ์และการบริการทางวัฒนธรรม 104 ราย และผู้ประกอบการที่พัก การท่องเที่ยวชุมชน และบริการอื่นๆ ในจังหวัดพัทลุงและอำเภอควนขนุน รวมทั้งหมดกว่า 50,000,000 บาท หลังจากนี้งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ ครั้งที่ 2 ภาคกลางและภาคตะวันออกจะจัดเดือนเมษายน ณ จังหวัดตราด ครั้งที่ 3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดเดือนพฤษภาคม ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ และครั้งที่ 4 ภาคเหนือ จัดเดือนกรกฎาคม ณ จังหวัดพิษณุโลก โดยการจัดงานทุกครั้งจะปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติฯ เป็นการสืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน ช่วยส่งเสริมให้ศิลปิน ศิลปินพื้นบ้าน และผู้ประกอบการมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการทางวัฒนธรรม ก่อให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจฐานรากให้แก่ชุมชนและท้องถิ่นด้วยทุนทางวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อไป