วุฒิสภา โดยคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” ร่วมกับ สสส.และภาคีเครือข่าย เพื่อระลึกถึงการสูญเสีย ‘หมอกระต่าย’ เน้นย้ำหยุดรถทางม้าลาย-ลดความเร็วเขตชุมชน สร้างจิตสำนึกผู้ใช้รถใช้ถนน ความดีที่คุณทำได้
เมื่อวันที่ 21 ก.พ ที่บริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนน จัดกิจกรรม “หยุดสูญเสีย หยุดรถ ให้คนข้ามทาง ม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” พร้อมร่วมทดสอบระบบสัญญาณไฟข้ามถนน บริเวณทางข้ามม้าลายระหว่างอาคารรัฐสภาและกองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และแจกสติ๊กเกอร์ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” รณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่หยุดรถตรงทางม้าลาย
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา และประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า เป็นที่ประจักษ์ว่าอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นปัญหาของสังคม ที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดจากพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนนที่ไม่เคารพกฎหมาย และขาดจิตสำนึก จึงมีความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องแก้ไขอย่างจริงจัง เพื่อลดความสูญเสีย วุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่าย มีความเห็นพ้องร่วมกันถึงปัญหานี้ จึงจัดกิจกรรม ในวาระครบรอบ 1 เดือน การจากไปของหมอกระต่าย และรัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด ทุกจังหวัด ยังจัดกิจกรรม “การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุบริเวณทางข้าม” พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้สร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเฉพาะผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึก และตระหนักถึงความสูญเสีย ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการขับรถที่ไม่มีวินัย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือไม่หยุดให้คนข้ามบนทางข้ามม้าลาย
นายคณวัฒน์ วงศ์แก้ว กรรมการและเลขานุการประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา กล่าวว่า จากข้อมูล 3 ฐานที่รวบรวม โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 10 ปีย้อนหลัง พบการเสียชีวิตของคนเดินเท้าเฉลี่ยถึง 1,000 รายต่อปี โดยเกือบครึ่งเป็นการก่อเหตุจากจักรยานยนต์ และ 1 ใน 3 เกิดในพื้นที่กรุงเทพฯ และจากกรณีการเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูกรถมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ชน ขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา สะท้อนถึงความเสี่ยง และการไม่เคารพกฎหมายรวมถึงจิตสำนึกการใช้รถใช้ถนน ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนของไทย ความสูญเสียบนท้องถนนโดยเฉพาะทางม้าลาย ไม่สมควรจะเกิดขึ้นอีก จึงขอเชิญชวนทุกฝ่าย หยุดความสูญเสีย ด้วยการหยุดรถ ให้คนข้ามทางม้าลาย พร้อมติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่รถ ข้อความ “ขอบคุณ ที่หยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย #ความดีที่คุณทำได้” เพื่อช่วยกันรณรงค์และย้ำเตือนให้เกิดวัฒนธรรมการหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย และดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนที่มีประสิทธิภาพร่วมด้วย
“ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนนวุฒิสภา สสส. และภาคีเครือข่าย ได้มุ่งมั่น เร่งรัด ติดตาม และวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน บูรณาการความร่วมมือจากทุกฝ่ายและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งจากปัญหาอุบัติเหตุ และความปลอดภัยทางถนน ทางคณะทำงานฯ และรัฐสภาจะมุ่งมั่นทำงาน เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนให้ได้มากที่สุด” ผู้แทนคณะกรรมการฯ กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า “สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมสนับสนุนการทำงาน ในการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนบนทางม้าลาย ทั้งการสื่อสารรณรงค์ ให้ความรู้ สนับสนุนการปฏิบัติการในพื้นที่ มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ให้กับทั้งผู้ขับขี่ที่ควรหยุดรถให้คนข้ามถนนที่ทางข้าม ส่วนคนเดินเท้าควรข้ามถนนที่ทางข้าม และระมัดระวังให้มากขึ้น จากกรณีของคุณหมอกระต่าย เป็นบทเรียนสำคัญว่ายังมีผู้สูญเสียอีกมาก จากอุบัติเหตุที่ต้องเสียชีวิต หรือกลายเป็นผู้พิการตลอดชีวิต จากพฤติกรรมการขับขี่ เช่น ขับเร็ว ดื่มแล้วขับ ซึ่งเป็นเหตุสำคัญ ของความสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ ขอเน้นย้ำถึงการลดความเร็วในเขตชุมชน ไม่ควรเกิน 50 กม.ต่อชั่วโมง โดยเฉพาะหน้าโรงเรียน โรงพยาบาล ชุมชน ตลาด ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 30 กม.ต่อชั่วโมง หากเกิดการชนคนเดินเท้า จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ถึง 90%
“ สสส. ร่วมในขบวนการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งแต่ปี 2546 ยึดยุทธศาสตร์ไตรพลังในการทำงาน ทั้งการประสานพลังความรู้วิชาการ พลังสังคม และพลังนโยบาย เพื่อร่วมขับเคลื่อนให้เกิดความปลอดภัยบนทางถนน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และในทศวรรษที่ 3 ของ สสส. มุ่งเน้นการดำเนินงานสำคัญ คือ
1. ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่สำคัญและเพิ่มพฤติกรรมความปลอดภัย
2. สร้างสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถจักรยานยนต์ เยาวชน และวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง โดยเน้นทำงานในพื้นที่จุดเสี่ยงและเกิดอุบัติเหตุสูง” ดร.สุปรีดา กล่าว
#ความดีที่คุณทำได้
#หมอกระต่ายต้องไม่ตายฟรี
#ถนนประเทศไทยต้องปลอดภัย