รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชน ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ผ่านสื่อบันเทิง ปรับภาพลักษณ์ใหม่จาก “ผู้สนับสนุน” เป็น “ผู้ลงทุน” พร้อมเตรียมมาตรการลดหย่อนภาษีจูงใจเอกชนร่วมขับเคลื่อน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมในฐานะประธานอนุกรรมการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ได้ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ 1/2565 ณ ศูนย์ประชุมกระทรวงวัฒนธรรม ชั้น 8 กระทรวงวัฒนธรรมและระบบประชุมทางไกลออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยที่ประชุมรับทราบข้อสั่งการของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) และคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติบูรณาการความร่วมมือกับคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและสร้างสรรค์ดำเนินงานส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สู่สากลผ่านงานศิลปวัฒนธรรม การท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม สินค้าและบริการผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (soft power) เพื่อก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีและรายได้ให้แก่ประเทศ
รวมทั้งสร้างความภาคภูมิใจ ความรักและความสามัคคีของคนในชาติสอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงและด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และรัฐบาลเตรียมปรับวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติโดยส่งเสริมการใช้ soft power จากผู้สนับสนุนมาเป็นผู้ลงทุน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ของประเทศและส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆของประเทศในระยะยาวจากเดิมที่ภาคเอกชนดำเนินการ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการร่างกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน (soft power) ซึ่งมุ่งเน้นดำเนินการ 2 ส่วนคือ ส่วนแรกการเพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมสื่อบันเทิงไทยโดยพัฒนาจากผู้รับจ้างผลิตผลงานให้แก่ต่างประเทศไปสู่การเป็นหุ้นส่วนธุรกิจกับอุตสาหกรรมสื่อบันเทิงต่างประเทศและพัฒนาด้านต่างๆ เช่น บุคลากร ธุรกิจสื่อบันเทิง เนื้อหา เทคโนโลยี สถาบันการศึกษาและหลักสูตรผลิตบุคลากร และกลไกสนับสนุนของรัฐบาล และส่วนที่สอง การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้แก่สื่อบันเทิงไทย ธุรกิจสินค้าและบริการ องค์กร สถาบันเพื่อการต่อยอดทุนและส่งเสริมทางการตลาด ภาพลักษณ์และแคมเปญของตนเองโดยใช้ soft power เช่น อาหารไทย ผ้าไทย
ซึ่งปีนี้วธ.มุ่งส่งเสริม soft power ทั้งสองด้านนี้ รวมทั้งกำหนดภาพลักษณ์ หรือแบรนด์ประเทศ (Nation branding)และแคมเปญของประเทศ และกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศ สร้างรายได้แก่ประเทศ และสร้างความภาคภูมิใจและความสามัคคีในชาติ รวมทั้งจัดให้มีมาตรการด้านภาษี โดยเตรียมมาตรการการลดหย่อนภาษีหรือมาตรการทางการเงินในการจูงใจให้ผู้ประกอบการ ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า บริการ องค์กร สถาบันและหน่วยงานต่างๆที่ร่วมลงทุน soft power และใช้ประโยชน์จากสื่อบันเทิงในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสินค้า อีกทั้งเสนอจัดตั้งคณะกรรมการและองค์กรระดับชาติขึ้นมากำกับดูแลและขับเคลื่อนทั้ง 2 ส่วนนี้โดยกำหนดกรอบเวลาดำเนินการในระยะยาว
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯในคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งคณะทำงานฯมีรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะทำงานฯประกอบด้วยหน่วยงานรัฐ เอกชน สภาและสมาคมที่เกี่ยวข้อง โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น ศึกษาข้อมูลและจัดทำเอกสารต่างๆสำหรับใช้ประกอบการจัดทำและร่วมกันพัฒนากรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ พัฒนาการจัดทำกรอบแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้คณะทำงานเร่งจัดทำแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯและเสนอคณะอนุกรรมการฯ หลังจากนั้นจะจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯโดยบูรณาการ การดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆในการขับเคลื่อนงานส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศฯและเสนอของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล โดยจะเสนอแผนปฏิบัติการฯต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติเพื่อพิจารณาเสนอรัฐบาลต่อไป