อย.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตไส้กรอก ใน จ.ชลบุรี

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรณีพบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กหลายรายเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากการรับประทานไส้กรอกและเกิดภาวะ methemoglobinemia (เมธฮีโมโกลบินนีเมีย) จึงประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ สระบุรี เพชรบุรี และตรัง สืบทราบแหล่งจำหน่ายและขยายผลทำการสืบสวนจนทราบแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ร่วมกับ อย.และ สสจ.ชลบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานเป้าหมายใน จ.ชลบุรี จากการตรวจค้นพบ นางสาว ร.(ขอสงวนชื่อ-นามสกุลจริง) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น หมูยอ โดยรับว่าทำการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแต่อย่างใด และฉลากผลิตภัณฑ์ไส้กรอกหลายรายการตรงกับฉลากผลิตภัณฑ์ที่ได้ข้อมูลจากผู้ป่วยว่าบริโภคแล้วเกิดอาการผิดปกติดังกล่าว โดยฉลากดังกล่าวไม่แสดงเลขสารบบอาหาร และเป็นการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบสถานที่ผลิตแห่งนี้ตามหลักเกณฑ์ GMP ที่กฎหมายกำหนด พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์ (ได้คะแนนรวม 19 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.67) และพบข้อบกพร่องได้แก่ ไม่มีการควบคุมการผลิต ในกรณีที่มีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร อย่างเหมาะสม

อีกทั้งขั้นตอนการผลิตไม่เข้าข่ายโรงงานตามกฏหมาย ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจวิเคราะห์หากพบสารต้องห้ามในอาหาร จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จึงตรวจยึดของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 ฝ่าฝืนมาตรา 6(7) สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี (GMP) โทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และฝ่าฝืนมาตรา 6(10) ผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวตอนท้ายว่า ขอเน้นย้ำผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายอาหาร ให้เลือกซื้อไส้กรอกหรือผลิตภัณฑ์อาหาร จากสถานที่ผลิตอาหารที่ได้รับอนุญาตมาจำหน่ายต่อเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยสังเกตที่ฉลากจะระบุชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตหรือหมดอายุหรือควรบริโภคก่อน แสดงส่วนประกอบและข้อมูลวัตถุเจือปนอาหาร น้ำหนักสุทธิ เลขสารบบอาหารในกรอบเครื่องหมาย อย. และผลิตภัณฑ์มีการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะสมเพื่อคงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ไว้ตลอดการจำหน่าย ส่วนผู้บริโภคเองหากไม่แน่ใจคุณภาพหรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นแหล่งผลิตหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรืออาจไม่ปลอดภัยในการบริโภค ขอให้แจ้งเบาะแสร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 อีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 3 กุมภาพันธ์ 2565 แถลงข่าว 15 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”