วันที่ 13 มีนาคม 2562 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาตรการรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันประกอบกิจกรรมค้นหา เก็บกู้ กับดักสัตว์ เช่น แร้ว ปืนผูก ตะปู หรืออุปกรณ์อื่นที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าในพื้นที่รับผิดชอบ แล้วนำออกจากพื้นที่ ทำให้พื้นที่นั้น เป็น “พื้นที่ปลอดกับดักสัตว์ป่า”
ปัจจุบันในบริเวณพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของไทย ยังพบว่า มีการใช้เครื่องมือดักสัตว์ป่า ประเภทบ่วงแร้วที่ทำด้วยเชือกและสลิง ปืนผูก และอุปกรณ์อื่น ๆ เป็นจำนวนมากในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงพื้นที่อนุรักษ์ จากการลาดตระเวนเก็บกู้บ่วง/แร้ว บริเวณรอยต่อแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ท้องที่บ้านเขาวง บ้านคลองตะเคียน บ้านหลุมตาสังข์ บ้านเทพประทาน บ้านสามพราน บ้านมอทราย และบ้านหอตะแบก อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ เจ้าหน้าที่ตรวจพบบ่วงเชือกรวม ๑๔๙ เส้น และซากวัวแดง ซากกวางป่า และซากหมูป่า ชนิดละ ๒ ซาก การใช้เครื่องมือดักสัตว์ป่าดังกล่าวเป็นภัยคุกคามร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสวัสดิภาพของสัตว์ป่า เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ประกอบได้ง่าย ใช้อุปกรณ์ที่หาได้โดยทั่วไป และสามารถอำพรางการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ได้ไม่ยาก สัตว์ป่าเมื่อติดกับดักจะดิ้นด้วยความตกใจ ทุกข์ทรมาน ลักษณะของบ่วงที่ผูกนั้นเมื่อสัตว์ยิ่งดิ้นหรือยิ่งขยับ บ่วงจะยิ่งรัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ ช้างป่าบางตัวที่ติดบ่วงจะถูกรัดจนบาดลึกถึงกระดูกเกิดเป็นแผลเน่าเป็นสาเหตุให้ล้มตายได้ในที่สุด บางกรณีที่เจ้าหน้าที่และสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถเข้าทำการช่วยเหลือและรักษาได้ทันท่วงที แต่ถึงกระนั้นช้างป่าที่ติดบ่วงแร้วนั้น จะพิการไม่สามารถเดิน หากิน หรือใช้ชีวิตอยู่ในป่าด้วยตัวเองตามปกติได้อีกต่อไปตลอดทั้งชีวิต เช่นกรณีของพังฟ้าแจ่มที่เจ้าหน้าที่ได้พบและช่วยเหลือไว้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ตั้งแต่ยังเป็นลูกช้าง ไม่หย่านม ซึ่งสัตวแพทย์ของหน่วยงานต่างๆ ร่วมกันประสานการรักษาอย่างเต็มที่ จนถึงปัจจุบันพังฟ้าแจ่มปลอดภัยแล้ว แต่ไม่สามารถกลับไปใช้ชีวิตในป่าได้อีกต่อไป เหตุการณ์ลักษณะนี้ยังคงเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงต้นเดือนมีนาคม 2562 สัตวแพทย์ได้ทำการช่วยเหลือช้างป่าที่ได้รับบาดเจ็บจากการโดนบ่วงดักสัตว์รัดอีกจำนวน 5 ตัว
ด้วยเหตุดังกล่าว และเนื่องในโอกาสวันช้างไทย 13 มีนาคมของทุกปี สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงมีมาตรการรณรงค์ให้หน่วยงานต่างๆในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ร่วมกันประกอบกิจกรรมค้นหา เก็บกู้ กับดักสัตว์ เช่น แร้ว ปืนผูก ตะปู หรืออุปกรณ์อื่นที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ป่าในพื้นที่รับผิดชอบ แล้วนำออกจากพื้นที่ ทำให้พื้นที่นั้น เป็น “พื้นที่ปลอดกับดักสัตว์ป่า” มีระยะเวลารณรงค์ 1 สัปดาห์ (วันที่ 13-19 มีนาคม 2562) โดยกำหนดให้วันช้างไทยเป็นวันเริ่มต้นแห่งการรณรงค์ ผลดำเนินการเป็นประการใด ให้รายงานกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ต่อไป
——————————————————