ดีเดย์! เปิดบริการแล้ว“แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง”มุ่งคุ้มครองผู้บริโภค จากพิษซื้อออนไลน์ สินค้าไม่ตรงปก โฆษกศาลยุติธรรม ย้ำฟ้องออนไลน์ได้ 24 ชม. ไม่จำกัดวงเงินมากน้อย เน้นเก็บหลักฐานสั่งซื้อจ่ายเงินส่งศาล พร้อมติดตามความคืบหน้าคดีได้ใน 12 ชม.กรุงไทยร่วมพัฒนาช่องทางยื่นฟ้องผ่าน e-Filing ตามสโลแกน “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย”
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่า วันที่ 27 ม.ค. น.ส.ปิยกุล บุญเพิ่ม ประธานศาลฎีกา ได้เป็นประธานพิธีเปิด “แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง” ซึ่งวันนี้ถือเป็นการเปิดทำการแผนกอย่างเป็นทางการวันแรก โดยมีนายภัฏ วิภูมิรพี อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง นายจีระพัฒน์ พันธุ์ทวี เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และคณะผู้บริหารศาลแพ่งร่วมพิธีเปิดงาน โดยการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง เกิดขึ้นจากดำริประธานศาลฎีกา ตามแนวนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมของประธานศาลฎีกา ปี พ.ศ.2564- พ.ศ.2565 ภายใต้สโลแกน “ความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย” (Easy Access to Justice) ที่ด้านหนึ่งจะมุ่งส่งเสริมการดำเนินคดีเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมถึงการบริโภควิถีใหม่ เช่น กลุ่มการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งถือเป็นของขวัญให้กับผู้บริโภคในปี 2565
ซึ่งปัจจุบันการบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลายและขยายตัวอย่างรวดเร็วการซื้อขายออนไลน์จึงเป็นที่นิยมกันอย่างมากเนื่องจากสะดวก รวดเร็ว และยิ่งในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากปกติจะเดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าต่าง ๆ ก็เปลี่ยนรูปแบบเน้นเป็นการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แทนทำให้เกิดข้อพิพาทตามมาเป็นจำนวนมากเช่น สั่งซื้อแล้วพบสินค้าชำรุด ได้รับของไม่ตรงปก ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา สั่งซื้อแล้วไม่ได้สินค้า หรือถูกหลอกลวง เป็นต้น ซึ่งตามปกติแล้วผู้เสียหายสามารถนำคดีมายื่นฟ้องศาล เพื่อให้มีการชดใช้ได้แต่ในการยื่นฟ้องคดีแพ่งตามหลักจะต้องยื่นฟ้องต่อศาลในภูมิลำเนาของผู้ขายที่จะเป็นจำเลย หรือที่มูลคดีเกิด ขณะที่การซื้อขายออนไลน์อาจมีกรณีที่ว่าความเสียหายเป็นเงินจำนวนไม่มาก หลักร้อยหลักพันบาท จึงทำให้คดีเหล่านี้มาไม่ถึงศาลเพราะมองว่าจะต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อาจไม่คุ้มค่าที่จะไปยื่นฟ้องศาล รวมถึงความยุ่งยากในขั้นตอนการดำเนินคดี แต่เมื่อปัจจุบันข้อพิพาทในการซื้อสินค้าออนไลน์ในสังคมมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากปล่อยปัญหานี้ไปก็จะกระทบถึงความน่าเชื่อถือของระบบการซื้อขายออนไลน์ในประเทศ และผู้บริโภคที่ซื้อของทางออนไลน์มีโอกาสที่จะถูกหลอกโดยที่ไม่ได้รับการเยียวยา ขณะที่ผู้ขายซึ่งก่อให้เกิดปัญหาจะยังคงไปสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้บริโภครายอื่นได้อีก
ศาลยุติธรรมจึงได้ดำเนินการการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง โดยให้ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ผู้บริโภคที่คิดว่าจะใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีได้รับความสะดวก ตามสโลแกนความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้มีประกาศรองรับการจัดตั้งแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ซึ่งได้เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.64
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐพร้อมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสนับสนุนและขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของหน่วยงานภาครัฐได้โดยง่ายตามยุทธศาสตร์ X2G2X โดยธนาคารร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม พัฒนาระบบการยื่นคำฟ้องอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) เพื่อเพิ่มช่องทางในการยื่นคำฟ้องและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้สะดวกมากขึ้น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนได้ครอบคลุมและรวดเร็วขึ้น ตอบโจทย์สำนักงานศาลยุติธรรม ในการต่อยอดระบบ e-Filing ในการยื่นคำฟ้องคดีผู้บริโภคประเภทซื้อขายออนไลน์ รองรับการยื่นคำฟ้องจากผู้เสียหายทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในการให้บริการประชาชนสามารถยื่นคำร้องผ่านเว็บไซต์ด้วยตนเองไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องมีทนายความและไม่ต้องมาศาล
โฆษกศาลยุติธรรม ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับขั้นตอนการยื่นฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ ดำเนินการได้ดังนี้
1) เข้าไปที่เว็บไซต์ https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ของศาลแพ่ง เริ่มสร้างบัญชีผู้ใช้งาน โดยเลือกประเภทผู้ใช้งานสำหรับประชาชน ลงทะเบียนผู้ใช้งานในระบบ (สำหรับผู้ใช้งานใหม่)
2) หลังจากลงทะเบียนแล้ว ล็อกอิน (Log in) เข้าสู่ระบบยืนยันเงื่อนไขการใช้งาน และเลือกเมนูคดีซื้อขายออนไลน์ พร้อมกรอกรายละเอียดคำฟ้อง ประกอบด้วยข้อมูลโจทก์ จำเลย ข้อมูลคำฟ้อง พร้อมแนบเอกสารหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้านั้น ๆ มูลเหตุที่เรียกร้อง ข้อมูลความเสียหาย ราคา และสามารถระบุพยานได้ เป็นต้น เมื่อผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายกรอกรายละเอียดและยื่นคำฟ้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว ระบบส่งจะคำฟ้องไปถึงเจ้าพนักงานคดีในศาลแพ่งเพื่อทำการตรวจสอบว่า การฟ้อง ข้อเท็จจริงนั้นครบถ้วนหรือไม่ หากคำฟ้องตรงตามเงื่อนไขการพิจารณาคดีซื้อขายออนไลน์และข้อมูลถูกต้องครบถ้วนเจ้าพนักงานคดีจะเสนอคำฟ้องเพื่อให้ศาลรับคำฟ้อง และส่งหมายเรียกแก่จำเลยทางอีเมล เมื่ออีเมลถูกส่งไปยังกล่องข้อความ (Inbox) ของอีเมลจำเลยแล้ว จะถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียก หรือส่งไปยังทาง SMS หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ อื่น ๆ
3) เมื่อเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ศาลจะดำเนินการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ วันพิจารณาคดี การสืบพยาน และการไกล่เกลี่ยจะดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ส่วนกรณีไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จจำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การผ่านระบบออนไลน์และดำเนินการต่อสู้คดีในลำดับต่อไป
โดยคดีซื้อขายออนไลน์ จะสามารถยื่นฟ้องคดีได้ 24 ชั่วโมง เรียกว่ายื่นฟ้องได้ทุกวัน ตลอดเวลา ซึ่งคดีจะต้องเป็นการยื่นฟ้องรูปแบบออนไลน์เท่านั้น ขณะที่การฟ้องคดีทางออนไลน์หากฟ้องหลังเวลา 16.30 น. หรือในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะนับวันทำการถัดไปให้ถือเป็นวันฟ้อง ตรงนี้แม้ดูเหมือนจะเป็นข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ระบบออนไลน์นั้นก็ช่วยอำนวยความสะดวกที่ไม่ต้องห่วงเรื่องการเดินทางมาศาลให้ทันเวลาทำการ
โดยการยื่นฟ้องสามารถทำที่ไหนก็ได้ ขั้นตอนการยื่นฟ้องของแผนกคดีซื้อขายออนไลน์ในศาลแพ่ง ใช้ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบในทุกขั้นตอน มีขั้นตอนที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ไม่ต้องเดินทางมาศาลไม่ต้องนำกระดาษมายื่นฟ้องศาลเหมือนคดีปกติได้ อีกทั้งผู้เสียหายสามารถติดตามความคืบหน้าได้ใน 12 ชั่วโมง นับแต่ยื่นเรื่องเข้ามา ซึ่งถือว่ารวดเร็วมากในการพิจารณาคดีขณะนี้
“คดีซื้อขายออนไลน์หลายคนกังวลเรื่องทุนทรัพย์น้อยเจ้าหน้าที่จะรับเรื่องหรือไม่ ทั้งนี้คดีทั่วไปที่โจทก์ยื่นฟ้องก็ไม่เคยมีศาลไหนมีคำสั่งห้ามมาฟ้อง ดังนั้นจะซื้อสินค้าราคาหลักสิบ หรือหลักร้อย ผู้บริโภคสามารถฟ้องได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวโจทก์เองที่จะตัดสินใจจะมาฟ้องหรือไม่ ศาลจะไม่จำกัดว่าเป็นสินค้าชนิดใด และราคาเท่าไร มีเงื่อนไขแต่เพียงว่าสินค้าที่ซื้อขายนั้นจะต้องเป็นช่องทางออนไลน์แค่นั้น การฟ้องคดีซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายหากต้องการยื่นฟ้อง ควรพยายามให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ขายและธุรกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะหาได้ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีและการบังคับ ดังนั้นเมื่อสั่งซื้อสินค้า อย่าลืมรวบรวมหลักฐานต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ขาย หลักฐานการสั่งซื้อสินค้า และหลักฐานการชำระเงินจากผู้ขาย รวมถึงหลักฐานเช่นวิดีโอที่ถ่ายขณะเปิดกล่อง นอกจากนี้ ศาลยุติธรรมยังได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรภาคีต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการให้ข้อมูลที่จำเป็นในการดำเนินคดี อันเป็นการอำนวยความสะดวกและลดภาระให้แก่ผู้บริโภค เป็นความยุติธรรมที่เข้าถึงง่าย ศาลเราพร้อมเป็นที่พึ่งประชาชนอย่างแท้จริงทุกด้าน และเป็นความยุติธรรมที่ให้ประชาชนเข้าถึงง่ายสอดรับกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของประชาชน” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ