อพท. มอบประกาศนียบัตร STMS ให้ อปท. ที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นระบบปี 64 เน้นแนวทางการปรับตัวและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ภายใต้สถานะการณ์การแพร่ระบาดของโควิด- 19 อนาคตเตรียมยกระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่พิเศษให้เพิ่มขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตร “การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมการให้บริการด้านองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้แก่ 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จาก 4 จังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ได้แก่ พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช และอุบลราชธานี
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี กล่าวว่า “องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศ เห็นความสำคัญในการผนึกกำลังหน่วยงานภาคีพันธมิตร เพื่อประสานงานการบริหารจัดการการท่องเที่ยวระหว่าง ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่มีอำนาจหน้าที่ในบริหารจัดการการท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่ อพท. เพียงหน่วยงานเดียวไม่อาจพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงได้ จึงขยายแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรในระดับท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวและมีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมาก”
ซึ่ง อพท. ได้พัฒนาและส่งเสริมการใช้งาน “มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” หรือที่เรียกว่า STMS เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และได้รับการรับรองว่าเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวโดยสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council : GSTC) ซึ่งเป็นองค์กรระดับสากล มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบันมีองค์กรที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐานแล้วถึง 70 องค์กร
โดยมาตรฐาน STMS จะให้เห็นถึงความสำคัญของผลอันเกิดจากการดำเนินงานตามมาตรฐาน และการปรับปรุงศักยภาพการบริหารจัดการทางด้านการท่องเที่ยว ซึ่งปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการปฏิบัติได้ตามมาตรฐาน คือ ความมุ่งมั่นของบุคลากรในทุกระดับ โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงที่ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนและสนับสนุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง และยังสามารถนำไปบูรณาการเข้ากับมาตรฐานที่มีอยู่เดิมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้แก่องค์กรได้ สำหรับผลงานในปี 2564 ที่ อพท. ไปส่งเสริมมาตรฐาน ใน 4 จังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว มี 8 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สามารถปฏิบัติได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน แม้จะอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว แต่การทำงานของ อพท. ในการส่งเสริมมาตรฐาน โดยเฉพาะการจัดการด้านความปลอดภัย ก็ได้มุ่งเน้นไปที่
มาตรการ แนวทาง การปรับตัวและเตรียมความพร้อมด้านการท่องเที่ยว ภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขององค์กรที่เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว และส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้ในภาคการท่องเที่ยว และชุมชนท้องถิ่น
ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวอีกว่า ในอนาคต อพท. จะขยายการดำเนินงานในการส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรเจ้าของแหล่งอื่นๆ ในพื้นที่พิเศษที่ อพท. รับผิดชอบ รวมทั้งเตรียมความพร้อมประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนำมาตรฐานฯ ไปปฏิบัติ เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยต่อไป
———————————