เปิดวงเสวนาหาแนวทางงานวิจัย-ใช้กลไกการประเมิน “HIA” พื้นที่ภาคอีสาน นักวิชาการวิเคราะห์สภาพปัญหาหลักของพื้นที่ด้าน “เศรษฐกิจ” กำลังฉุดรั้งศักยภาพอีสานอยู่ท้ายตาราง ย้ำโจทย์สำคัญคือ “ภาคการเกษตร” ต้องมุ่งหาแนวทางการพัฒนาใหม่ให้สอดคล้องกับทิศทางการตลาด พร้อมแก้ไขปัญหาด้านฐานทรัพยากร-การพัฒนาเมือง
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการอิสระ เปิดเผยในเวทีเสวนา แนวทางการจัดทำ HIA Research mapping ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2565 ตอนหนึ่งว่า หากมองในมุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ พบว่าภาคอีสานได้ผ่านจุดรุ่งเรืองที่มีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) เกิน 5% ครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2554-2555 จากนั้นจีดีพีของภาคอีสานอยู่ในอัตราเติบโตเพียง 0-4% เท่านั้น และหากการเติบโตยังเป็นอัตรานี้ ภายในปี 2566 อีสานจะเป็นภูมิภาคเดียวของไทยที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper Middle Income Countries) ซึ่งต้องมีจีดีพีต่อหัวที่ 125,503 บาทต่อคนต่อปี จึงหมายความว่าศักยภาพของภาคอีสานนั้นกำลังถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
ดร.เดชรัต กล่าวว่า เมื่อได้ทำการศึกษาหนทางในการยกระดับจีดีพีของภูมิภาคอีสานให้เพิ่มขึ้น พบว่าภาคการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และการศึกษา เป็น 3 สาขาทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากที่สุด แต่กลับมีอัตราการเติบโตน้อยที่สุด โดยเฉพาะการเกษตร ที่จะเป็นโจทย์สำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคอีสาน อย่างไรก็ตามการใช้วิธีอุดหนุนสินค้าเกษตรแบบเดิม เช่น จำนำข้าว หรือประกันรายได้ อาจไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เพราะขณะนี้งบประมาณของประเทศได้มาถึงขีดจำกัดทางการคลัง ฉะนั้นในอนาคตจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางการสนับสนุน
“ช่วงปี 2560-2563 ที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกข้าวตลาดหลัก เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเหนียว มีการหดตัวลงเฉลี่ย 13% แต่ปรากฏว่ามูลค่าการส่งออกข้าวตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวสี มีการเติบโตเฉลี่ย 17% ฉะนั้นเราจึงควรมองตามแนวโน้มทิศทางการเติบโต ว่าจะสนับสนุนข้าวตัวใหม่ๆ เหล่านี้ให้มากขึ้นได้อย่างไร โดยยกระดับการพัฒนาคุณภาพข้าว ทั้งรสชาติ คุณภาพทางประสาทสัมผัส หรือคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ HIA จะนำมาช่วยได้” ดร.เดชรัต กล่าว
ดร.เดชรัต กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ในส่วนของการวางแผนวิธีการทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) อาจยึดหลักการได้ใน 4 ลักษณะ คือ
1. มุมมองทางบวกของทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ (Positive Aspects of Healthier Options)
2. การเปรียบเทียบทางเลือกเชิงนโยบาย/ทางเทคโนโลยี (Comparison of Policy Options)
3. การเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
4. การมุ่งเน้นที่การเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy & Local Development)
รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า สำหรับสามวาระหลักที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคอีสาน อันดับแรกคือการเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนเกษตรกรรายย่อย รวมถึงการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรที่ใช้ในระบบการผลิต ซึ่งปัจจุบันทรัพยากรเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคุณภาพน้ำ คุณภาพดิน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย
รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวว่า ลำดับถัดมาคือการพัฒนาของเมือง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ชนบทได้ลดลงและกลายสภาพเป็นเมือง รวมถึงเมืองใหญ่เองที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว นำมาซึ่งปัญหาทั้งผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่รองรับ ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ที่อยู่อาศัย แหล่งงาน สถานที่พักผ่อน หรือบางพื้นที่ที่รัฐบาลได้ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จัดสรรพื้นที่ให้กับนักลงทุน สร้างความปั่นป่วนในการกว้านซื้อที่ดิน เก็งกำไรต่างๆ นานา
“สุดท้ายคือ Development Governance หรือการควบคุมกำกับเพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม ตอบสนองต่อความต้องการ ของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง ที่เป็นตัวกำหนดว่าเราควรจะพัฒนาอะไร เริ่มที่ไหน ใครได้ประโยชน์ จึงเป็นความท้าทายว่าจะนำปัญหาเหล่านี้เข้าไปอยู่ใน HIA อย่างไร” รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า หากมองสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพในภาคอีสาน อันดับแรกคืออุทกภัย โดยเฉพาะเขื่อนและการจัดการน้ำ ที่มีปัญหาเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเขื่อนหลายแห่งเริ่มเสื่อมสภาพ ขาดการซ่อมบำรุง รวมถึงโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำต่างๆ ซึ่งการจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งหมดอยู่ในอำนาจรัฐเกือบ 100% และมีลักษณะที่ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงมักเป็นปัญหาว่าโครงการเหล่านี้ตั้งบนพื้นฐานการใช้งบประมาณเป็นหลัก ไม่ได้ไปตอบสนองต่อความต้องการน้ำของประชาชนอย่างแท้จริง
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า นอกจากปัญหาการจัดการน้ำภายในภาคอีสานแล้ว พื้นที่เองยังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนตลอดแม่น้ำโขง ที่กระทบกับระบบเกษตรและความมั่นคงทางอาหารหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้งในช่วงปี 2540 คนอีสานยังมีหลังพิงคือฐานทรัพยากร หากแต่ยุคปัจจุบันที่เผชิญวิกฤตโควิด-19 คนอีสานที่เดินทางกลับบ้านไม่มีทรัพยากรให้พึ่งพิงอีกต่อไป แม่น้ำโขงไม่มีปลาให้จับอีก เหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกับปัญหาจากการใช้ 3 ทรัพยากรใต้ดินของภาคอีสาน อันได้แก่ ทองคำ โปแตซ และปิโตรเลียม
“ฉะนั้นธีมในการทำ HIA ของภาคอีสาน ควรจะมุ่งเน้นไปที่การจัดการทรัพยากร การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาอุตสาหกรรม ภัยพิบัติ และอุตสาหกรรมขุดเจาะพระแม่ธรณี ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถมองในมิติของสุขภาพได้ และยังจะต้องครอบคลุมไปถึงนิยามสุขภาพแบบใหม่ ที่ไม่ได้มีแค่มิติทางร่างกาย หรือมองในแง่ความเจ็บป่วยอย่างเดียว แต่ยังจะต้องมองไปถึงสุขภาพในมิติทางจิตใจ ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ ซึ่งเราอาจยังไม่ค่อยได้มุ่งเน้นมากนักในที่ผ่านมา” ผศ.ดร.ไชยณรงค์ กล่าว