รพ.จุฬารัตน์ เจาะลูกค้าอาหรับ เพิ่มยอดขายปี 65

รพ.จุฬารัตน์ เดินหน้าเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ชูจุดขายการบริการรักษารวดเร็ว-ได้มาตรฐานสากล โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รับดีมานด์ลูกค้าหลังเปิดประเทศ พร้อมหนุนนโยบาย Medical Hub ของรัฐบาล

นายสิริ ยุทกาศ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานในส่วนลูกค้าต่างชาติ นับตั้งแต่รัฐบาลเปิดประเทศ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่า กลุ่มลูกค้าต่างประเทศทั้งคนไข้เก่าและคนไข้ใหม่ เริ่มติดต่อเข้ามาอีกครั้งอย่างต่อเนื่อง หลังจำนวนผู้ใช้บริการต่างชาติลดลงนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 โดยโรงพยาบาลยังคงให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์กับกลุ่มคนไข้เก่าผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มประเทศ ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นลูกค้าหลักที่สำคัญ อย่างเช่น ประเทศคูเวต กาต้าร์ โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่ม CLMV รวมถึงการเข้าร่วมเป็น Hospital Quarantine ให้กับคนต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามารักษาตัวในไทย หรือกลุ่ม Medical and Wellness Program ในการรักษาและพักฟื้น

โดยต้องอยู่กักตัวในโรงพยาบาลจนครบ 14 วัน และเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลกักตัวทางเลือก Alternative Hospital Quarantine เพียง 1 เดือนแรกหลังการเปิดประเทศ โรงพยาบาลมีรายได้การให้บริการทางการแพทย์จากกลุ่มลูกค้าชาวตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ในสัดส่วนที่เพิ่มขี้น เป็นรายได้ที่กลับมาเกือบ 100% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 นับเป็นนิมิตรหมายที่ดี โดยในไตรมาส 4/2564 จำนวนลูกค้ามีเพิ่มมากขึ้นและช่วยรักษาการขยายตัวของรายได้ที่มาจากคนไข้ชาวต่างชาติในภาพรวมไว้ได้

พร้อมกันนี้ ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ ได้จัดแคมเปญและโปรโมชั่นพิเศษราคามิตรภาพในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และในต้นปี 2565 สำหรับลูกค้าชาวต่างชาติรวมหลายแพคเกจ เช่น แพคเกจตรวจสุขภาพ Comprehensive Program ในราคา 9,000บาท แพคเกจตรวจกระดูกและข้อ รวมทั้งระบบประสาทและสมองด้วย MRI ราคา 7,900 บาท และแพคเกจตรวจระบบทางเดินอาหาร พร้อมส่องกล้องกระเพาะอาหาร ราคา 12,000 บาท เพื่อหวังสร้างรายได้และดึงคนไข้เป้าหมายให้เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น สำหรับปี 2565 ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ มีเป้าหมายขยายฐานลูกค้ากลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และกลุ่ม CLMV ลูกค้าหลักเพิ่มมากขึ้น

โดยเน้นให้คำปรึกษาและรักษาโรคที่พบบ่อยจากการตรวจสุขภาพในคนไข้ เช่น การตรวจวินิจฉัยและรักษาความผิดปกติของระบบประสาททุกประเภทและหลอดเลือดสมอง (Neurology and Stroke) โดยทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งนักกายภาพและหุ่นยนต์ ที่พร้อมสรรพให้การรักษา ดูแลและฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ตลอดจนเตรียมจัดแพคเกจพิเศษการบริการตลอดปี 2565 รวมไปถึง การตรวจรักษาผู้เป็นเบาหวาน การติดตาม และให้การรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่ยากต่อการรักษาให้หายขาด ได้รับการรักษาถูกจุด

ศูนย์การแพทย์นานาชาติ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ นอกจากจะให้บริการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติ โดยทีมแพทย์ พยาบาล ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางแล้ว โรงพยาบาล ยังจัดให้มีศูนย์บริการสำหรับชาวตะวันออกกลางและกลุ่ม CLMV ขึ้นโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายและเกิดความพึงพอใจสูงสุด โดยเจ้าหน้าที่คนไทยที่มีประสบการณ์ รวมทั้งการให้บริการติดต่อกับสถานเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศและหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย “ธุรกิจกลุ่มโรงพยาบาลจุฬารัตน์ เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ แม้จะได้รับผลกระทบบ้างในระยะสั้นๆ จากวิกฤตโควิด-19 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกคลี่คลายลง รัฐบาลเปิดประเทศ กลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่หายไปก็เริ่มทยอยกลับมาด้วยความเชื่อมั่นในมาตรฐานคุณภาพการรักษาระดับสากล จึงเชื่อว่าธุรกิจโรงพยาบาลจะกลับมาเติบโตได้ต่อเนื่องในระยะยาว” นายสิริฯ กล่าว

สำหรับ กรณี คณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ด้วยวิธี RT-PCR หลังพบเชื้อโควิด-19 กลายพันธ์ เป็นสายพันธ์โอไมครอน จนกว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงอนุมัติเห็นชอบหลักการในการตรวจลงตราวีซาประเภทใหม่ เป็นวีซาเพื่อการรักษาพยาบาล หรือ Medical Treatment Visa เพื่อขับเคลื่อนตามนโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) และรองรับนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นวีซ่า 1 ปี ออกให้กับชาวต่างชาติที่เดินทางมารักษาพยาบาลในประเทศไทยในระยะยาว รวมทั้งผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน นั้น นายสิริ กล่าวว่า การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เป็นการป้องกันไม่ให้ไวรัสโควิดสายพันธ์โอไมครอน แพร่ระบาดในประเทศไทย รวมทั้ง เห็นด้วยกับการอนุมัติ วีซ่ารักษาพยาบาล 1 ปี เพราะไม่เพียงเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับชาวต่างชาติที่มารักษาพยาบาล แต่ยังเป็นการขยายช่องทางการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างประเทศให้กว้างมากขึ้น ทำให้ประเทศไทย เป็นเมดิคอลฮับที่กลุ่มผู้ป่วยต่างประเทศไว้วางใจมารักษาพยาบาล เป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พ.ศ. 2560 – 2569 อีกด้วย