กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) วันที่ 7 มีนาคม 2562 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น พร้อมโชว์เทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตหน่อไม้ฝรั่งสินค้าแปลงใหญ่จาก 30 กก./ไร่ เป็น 55 กก./ไร่ การแสดงนวัตกรรมและแข่งขันซ่อมเครื่องจักรกลเกษตรฟรี!!! พร้อมร่วมรณรงค์หยุดเผาในไร่นา เพื่อลดปัญหาหมอกควัน ลดต้นทุนการผลิต การให้บริการนิทรรศการความรู้ด้านการเกษตร และออกร้านจำหน่ายสินค้าจากกลุ่มต่างๆ มีเกษตรกรสนใจร่วมงานประมาณ 300 คน
ว่าที่ร้อยตรีสมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ข้อมูลข่าวสาร ช่องทางการตลาด การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ โดยใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. เป็นสถานที่จัดงาน และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ที่มีเกษตรกรผู้นำเป็นผู้บริหารจัดการ ภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ การจัดงาน Field Day จึงถือเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ที่เหมาะสมของเกษตรกร
สำหรับการจัดงาน Field Day ณ ศพก. อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ได้เลือกนำเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหน่อไม้ฝรั่งซึ่งเป็นสินค้าแปลงใหญ่ของพื้นที่มาจัดแสดงเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้ จำนวน 4 สถานี คือ 1. สถานีการจัดการดินปุ๋ย โดยนายธีระศักดิ์ เค้พวง (YSF) และสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดขอนแก่น 2. สถานีเทคโนโลยีการผลิต การเพาะกล้า และการปลูก โดยนายสมหมาย เห็มมันตรา ประธานแปลงใหญ่หน่อไม้ฝรั่ง 3. สถานีระบบน้ำหยดควบคุมโดยแผงโซล่าเซลล์ โดยนายอภิรักษ์ โพธิ์รัตน์ และศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด และ 4. สถานีการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี โดยนายอภิเษก ประเสริฐ ประธาน ศพก. และกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น และภายในงานยังมีการให้บริการด้านการเกษตรของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย การจัดแสดงนวัตกรรม/เครื่องจักรกลทางการเกษตร แข่งขันการซ่อมเครื่องจักรกลทางการเกษตร สอนวิธีการดูแลรักษาเครื่องจักรกลเกษตรเบื้องต้น บริการซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตร เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง กรองอากาศ สายยาง โดยศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดร้อยเอ็ด นิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์ โดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น (ศูนย์ผึ้ง) การแสดงผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่น การทำบัญชีครัวเรือน โดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น การผลิตอ้อยคุณภาพ โดยโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง การแสดงผลงาน ศพก. 50 แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรต้องชม โดยสำนักงานเกษตรอำเภอภูผาม่าน ร่วมกับ ศพก. ภูผาม่าน การรณรงค์หยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้ ศพก. เป็นกลไกขับเคลื่อนขยายผลและเป็นต้นแบบชุมชนปลอดการเผา เพื่อลดปัญหาหมอกควัน มลพิษทางอากาศ ด้วยการใช้วิธีไถกลบตอซังฟางข้าว เพิ่มอินทรีย์วัตถุ ปรับปรุงบำรุงดิน การทำปุ๋ยหมัก และนำวัสดุทางการเกษตรมาใช้ประโยชน์ ช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดขอนแก่น การนำเสนอกระบวนการรับซื้อหน่อไม้ฝรั่ง โดยบริษัท ซิน ตง หยาง ฟู้ด จำกัด
ทั้งนี้ จากสภาพปัญหาการผลิตหน่อไม้ฝรั่งของเกษตรกรในพื้นที่พบว่า ผลผลิตต่ำ ซึ่งเกิดจากเปอร์เซ็นต์การรอดของต้นกล้าหน่อไม้ฝรั่งในการปลูกต่ำ ต้นทุนสูง เนื่องจากมีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณสูง ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้น เป้าหมายการจัดงาน Field Day ครั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตหน่อไม้ฝรั่ง จาก 30 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 55 กิโลกรัม/ไร่ ในฤดูกาลผลิตใหม่ โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ได้แก่ การจัดการด้านดินปุ๋ย เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การใช้น้ำหมักชีวภาพ ด้านเทคโนโลยีการผลิต การเพาะกล้า การปลูก การจัดการระบบน้ำ การป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักโดยชีววิธี นอกจากนี้การจัดงานดังกล่าวยังมีกิจกรรมออกร้านจำหน่ายสินค้า ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มส่งเสริมอาชีพ Smart Farmer และ Young Smart Farmer มีเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานราว 300 คน
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการผลิตของเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเกษตรกร จึงได้จัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นเพื่อเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเตรียมความพร้อมของพี่น้องเกษตรกร ก่อนเข้าสู่การเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 2562 โดยสนับสนุนให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ซึ่งหากสามารถทำให้เกษตรกรนำองค์ความรู้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ไปประยุกต์ใช้ จะทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือหากมีการขยายผลหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และองค์ความรู้ต่างๆ จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ และศูนย์เรียนรู้ฯ ก็จะเป็นที่พึ่งพาช่วยเหลือดูแลเกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
*********************************