สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 15 ม.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกบางในตอนเช้าโดยเฉพาะภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองกับลมกระโชกแรงบางแห่งเกิดขึ้นส่วนภาคใต้มีฝนเล็กน้อยบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลางบริเวณ จ.เชียงใหม่ (29 มม.) จ.สุราษฎร์ธานี (9 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (6 มม.)

+ เฝ้าระวังน้ำทะเลยกตัวสูงบริเวณอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลซัดฝั่งเข้าท่วมพื้นที่ชายทะเล เนื่องจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง ส่งผลให้ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี มีน้ำทะเลยกตัวสูงขึ้น 0.3-0.6 ม.

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,996 ล้าน ลบ.ม. (62%) ขนาดใหญ่ 28,905 ล้าน ลบ.ม. (60%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง อยู่ในเกณฑ์ปกติ

+ เมื่อวันที่ 14 ม.ค 65 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. จัดการประชุม ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ชี้แจง 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/2565 และสรุปความก้าวหน้าการจัดทำข้อเสนอแผนงานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2565 ตามที่ สทนช.เสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติและร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เน้นย้ำทุกหน่วยงานให้เร่งดำเนินการเชิงป้องกันก่อนที่ผลกระทบภัยแล้ง จะเกิดขึ้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
สำหรับ 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/2565 ประกอบด้วย

1) เร่งเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภท

2) จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ

3) ปฏิบัติการเติมน้ำให้กับแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำตามสภาพอากาศที่เหมาะสม

4) กำหนดการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง

5) วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

6) เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อสนับสนุนน้ำเตรียมแปลงเพาะปลูกนารอบที่ 1 (นาปี)

7) เฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก สายรอง

8) ติดตามและประเมินผลเพื่อให้ผลการดำเนินงานเป็นไปตามแผน

9) สร้างการรับรู้สถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุได้ทันที

ทั้งนี้ สทนช. จะมีการกำกับ ติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการดังกล่าว และรายงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ทราบ พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินงานรายงาน ครม. ต่อไป