ซีพีเอฟ จับมือ อสค. สานต่อ ‘สี่ประสานฯ’ ปีที่ 2 ชูแอปฯ ‘CP SmartMORE’ สร้างความยั่งยืนอุตสาหกรรมโคนมไทย

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ โดยธุรกิจอาหารสัตว์บก ร่วมกับ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อสค. ผู้นำด้านการส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคนม และเป็นผู้รับซื้อ จำหน่ายผลิตภัณฑ์นม สานต่อโครงการ “สี่ประสาน สร้างความยั่งยืนโคนมไทย” เป็นปีที่ 2 มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรโคนมให้มีรายได้เพิ่ม มีมาตรฐานการเลี้ยงการจัดการโคนมและน้ำนมที่มีคุณภาพ พร้อมส่งต่อความรู้ให้กับสหกรณ์โคนมหรือศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และเกษตรกรเพื่อพัฒนาฟาร์มต้นน้ำโคนมไทยอย่างยั่งยืน

นายพีระ ไชยรุตม์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อสค. กล่าวว่า อสค.ต้องการยกระดับความสามารถเกษตรกรโคนมไทยให้ดำรงอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนั้นการที่ภาคเอกชนมาร่วมมือ จึงเป็นเรื่องน่ายินดี ที่ผ่านมา 5 ศูนย์นมที่ร่วมมือกับซีพีเอฟได้รับผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้ตัวชี้วัดด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และค่าเฉลี่ยดีขึ้น รวมทั้งค่าองค์ประกอบน้ำนม ผลผลิต ประสิทธิภาพการเลี้ยงดีขึ้นเช่นกัน ทำให้เราผู้รับซื้อน้ำนมดิบคุณภาพเข้าสู่กระบวนการแปรรูป โครงการฯ นี้ ถือเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือที่จะส่งผลดีทั้งต่อผู้เลี้ยงโคนมและอุตสาหกรรมนมไทย

ด้าน นายพูนศักดิ์ ทองพิทักษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจอาหารโค ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ในฐานะผู้นำด้านอาหารสัตว์บก มีองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงการจัดการโคนมมากกว่า 30 ปี ซึ่งเกิดจากฟาร์มวิจัยและพัฒนาด้านโคนมของเรา ทั้ง 4 ฟาร์มทั่วประเทศ พร้อมด้วยทรัพยากรคน เครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วยยกระดับมาตรฐานการเลี้ยง เพื่อแบ่งเบาภาระเกษตรกร ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พัฒนาการจัดการการเลี้ยงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 บริษัทฯ ร่วมพัฒนาศูนย์นมและเกษตรกรโคนมในเครือข่ายของ อสค. ไปแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์โคนมกระนวนสามัคคี สหกรณ์โคนมน้ำพอง จ.ขอนแก่น, สหกรณ์โคนมหนองวัวซอ จ.อุดรธานี, สหกรณ์โคนมแม่โจ้ และสหกรณ์โคนมแม่วาง จ.เชียงใหม่

“ในปีที่ 2 ของโครงการฯ ซีพีเอฟ มีความตั้งใจจะขยายโครงการอีก 5 ศูนย์นมทั่วประเทศ หรือคิดเป็นประชากรโคมากกว่า 12,000 ตัว มุ่งมั่นพัฒนาการเกษตรแบบแม่นยำ สามารถเก็บข้อมูลบันทึกการเลี้ยงนำมาวิเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด ที่สำคัญต้องวัดผลได้ ดังนั้น เราจึงนำแอปพลิเคชัน “CP SmartMORE” มาช่วยจัดเก็บข้อมูล รวมถึงการจัดการฟาร์มโคนมฟรี ทำให้โครงการฯ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังต้องการสร้างบรรทัดฐานการเลี้ยงการจัดการที่เป็นมาตรฐานซีพีเอฟ ส่งต่อสู่เกษตรกรโคนม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมโคนมไทย ให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ผลผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดี สด สะอาด ปลอดภัย สู่ผู้บริโภค “โครงการสี่ประสาน สร้างความยั่งยืนโคนมไทย” ถือเป็นความร่วมมือเพื่อยกระดับมาตรฐานทั้งห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมนมไทยได้เป็นอย่างดี” นายพูนศักดิ์ กล่าว ./