“ของขวัญจากใจ สู่ผู้สูงอายุไทยยุคดิจิทัล (THAI SMART AGEING)”

Thai Smart Ageing ของขวัญจากใจ สู่ผู้สูงวัยยุคดิจิทัล

“ผู้สูงวัย” หรือ “ผู้สูงอายุ” เป็นประชากรที่มีความสำคัญ และมีบทบาทในการพัฒนาสังคมได้ ไม่ได้เป็นเพียงวัยแห่งการพักผ่อน หรือเป็นไม้ใกล้ฝั่งที่รอเพียงวันลาจากโลกนี้ไป อย่างที่เข้าใจกันแบบผิด ๆ มาโดยตลอด ด้วยประสบการณ์ชีวิต ความรู้ ความสามารถที่สั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ผู้สูงอายุสามารถส่งต่อหรือถ่ายทอด รวมทั้งต่อยอดและพัฒนาประสบการณ์ชีวิตและองค์ความรู้เหล่านั้นให้กลายเป็นนวัตกรรม หรือองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่นำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมในสังคมปัจจุบันได้

ด้วยบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง และอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในหลาย ๆ ด้าน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ก็มีความสนใจแสวงหาความรู้และปรับตัว เพื่อให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก    นำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งลดช่องว่างระหว่างวัย และสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของกิจกรรมเปิดตัวระบบการเรียนออนไลน์หลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัล หรือ Thai Smart Ageing ที่เกิดขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุ เพื่อแนะนำหลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัลให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี สร้างเสริมสุขภาวะที่ดี และเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุ (Ageing Society ) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548  เป็นต้นมา โดย 1 ใน 10 ของประชากรไทยเป็นประชากรที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป และสถานการณ์ประชากรผู้สูงอายุไทยในปี 2562 มีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18.0   และคาดว่าประเทศไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีจำนวนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20 และคาดการณ์ประชากรในอีก 12 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2576) ประเทศไทยจะมีประชากรสูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)

ดร.สุปรีดา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการสำรวจการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้สูงอายุจำนวน 4.29 ล้านคน หรือกว่าหนึ่งใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมด มีการใช้อินเทอร์เน็ต โดยใช้เป็นประจำทุกวันถึง 3.36 ล้านคน โดยกิจกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ใช้เพื่อเข้าถึงโซเชียลมีเดีย เช่น line facebook นอกจากนี้ มีผู้สูงอายุประมาณ 8 แสนคน ใช้อินเทอร์เน็ตค้นหาข้อมูลด้านสุขภาพ

การเรียนรู้ตลอดช่วงวัยสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก สสส. จึงร่วมกับ ศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา (CCDKM) มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชพัฒนาบทเรียนการเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุผ่านระบบออนไลน์ “หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล” โดยมีแนวคิดจากการนำบทเรียน กิจกรรมในหลักสูตรโรงเรียนผู้สูงอายุ ที่ สสส. ร่วมกับภาคีภาควิชาการพัฒนาเนื้อหาแนวทางไว้เป็นบทเรียนที่ผู้สูงอายุต้องรู้ ควรรู้ และอยากรู้ และใช้ในกิจกรรมโรงเรียนผู้สูงอายุ มาพัฒนาเป็นบทเรียนออนไลน์ โดยใช้ระบบ MOOC ซึ่งดูแลและรับผิดชอบโดยมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  โดยตั้งใจให้หลักสูตรนี้เป็นเหมือนของขวัญในเทศกาลปีใหม่ 2565 สำหรับผู้สูงอายุ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทเรียนต่าง ๆ จะส่งต่อพลังและศักยภาพที่เข้มแข็งของตัวเองให้กับผู้สูงอายุทุกคนได้ อีกทั้ง การเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ จะเป็นทางเลือกให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในกลุ่มประชากรกลุ่มเปราะบางทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ โดยไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่ระบาดโควิด-19” ดร.สุปรีดา กล่าว

หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการจัดทำหลักสูตรเตรียมพร้อมและสื่อการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสุขภาวะ “ผู้สูงวัยดิจิทัล”ภายใต้กรอบวาระแห่งชาติ” (SMART AGEING ACADEMY) โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และศูนย์วิจัยการจัดการความรู้การสื่อสารและการพัฒนา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (CCDKM) จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนานวัตกรรมเรียนรู้ออนไลน์สำหรับผู้สูงวัย ด้วยเนื้อหาที่เหมาะสมกับผู้สนใจ ยกระดับทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ผ่านเครื่องมือเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับเนื้อหาด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่

ส1” สุขภาพ (อาหาร ยารักษาโรค ฯลฯ)

ส2” สังคมสุขภาวะ (การออกกำลังกาย การดูแลจิตใจ ศาสนา ฯลฯ)

ส3” สิ่งแวดล้อม (ที่อยู่อาศัย ชุมชน โลกดิจิทัล จิตอาสา ฯลฯ)

ส4” สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต (ด้านธุรกิจ ด้านเศรษฐกิจ ด้านการทำงาน)

โดยมุ่งหวังให้ผู้สูงวัยสามารถต่อยอดความรู้และใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และรู้เท่าทันสังคมยุคดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มระบบชั้นเรียนออนไลน์ครบทุกขั้นตอน ทั้งการลงทะเบียน การแสดงตัวตน การเก็บสถิติการเข้าเรียน การทำแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน โดยผู้ที่เรียนจบ “หลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัล” จะได้รับใบประกาศนียบัตรออนไลน์

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1.เพื่อพัฒนาหลักสูตรเตรียมพร้อมและสื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสุขภาวะ“ผู้สูงวัยดิจิทัล”ภายใต้กรอบวาระแห่งชาติ “SMART AGEING ACADEMY” และแพลตฟอร์มระบบ MOOC ที่เหมาะสมกับสภาพการเรียนรู้ของผู้สูงอายุในปัจจุบัน

2.เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้สูงวัยในยุคดิจิทัล ที่เหมาะสมกับระดับความสามารถในการเรียนรู้ของ “วัยสูงอายุ” ที่แตกต่างจากวัยอื่นอย่างแท้จริง

3.เพื่อเสริมสร้างให้ผู้สูงอายุยกระดับทักษะการเรียนรู้ด้านดิจิทัลขั้นพื้นฐาน จนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านสุขภาวะทั้ง 4 มิติในสื่อออนไลน์ทั่วไปได้

4.เพื่อสนับสนุน และเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่สนใจ หรือที่มีความพร้อมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในหลักสูตรระดับอื่น ๆ ของ “ผู้สูงวัยดิจิทัล” ที่สูงขึ้นได้ ภายใต้กรอบวาระแห่งชาติ “SMART AGEING ACADEMY” โดยทุกระดับจะได้รับประกาศนียบัตรจากศูนย์วิจัยการจัดการความรู้ฯ ของ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงเรียนผู้สูงอายุของกระทรวง พม. ฯลฯ โดยอาจนำไปสะสมชั่วโมงการเรียนรู้เพื่อต่อยอดคุณวุฒิ เช่น กศน. วิทยาลัยชุมชน ฯลฯ ตามเงื่อนไขที่กำหนดร่วมกัน ผู้สนใจหลักสูตรผู้สูงวัยดิจิทัลสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และลงทะเบียนสมัครเข้าเรียนได้ที่ https://thaismartageing.org/

นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า  ผู้สูงอายุเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่ของสังคม เป็นพลังที่เข้มแข็งของครอบครัว และสังคม อยากให้ผู้สูงอายุยังคงความเป็น Active Ageing และยังคงเรียนรู้อยู่เสมอ เพราะการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สูงอายุ ทุกวันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  ถ้าหากผู้สูงอายุไม่เรียนรู้ตลอดชีวิต หรือรู้ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง ก็จะทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข เพราะไม่เข้าใจโลก ไม่เข้าใจสิ่งที่เปลี่ยนไป ไม่เข้าใจคนรอบข้าง และคนรอบข้างก็ไม่เข้าใจท่าน แต่ถ้าหากผู้สูงอายุมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ก็จะทำให้ผู้สูงอายุมีความสุขที่เข้าใจคนรอบข้าง และคนรอบข้างก็เข้าใจท่านเช่นเดียวกัน

รศ.ดร.มานิตย์  จุมปา รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) กล่าวว่า มีความยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสร่วมพัฒนาระบบการเรียนออนไลน์  “หลักสูตรผู้สูงวัยยุคดิจิทัล” ซึ่งนอกจากจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายตั้งใจมอบให้ผู้สูงอายุไทยแล้ว หลักสูตรนี้เป็นอีกหนึ่งในหลักสูตรนวัตกรรมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคมสูงวัยของประเทศไทย ผ่านการขับเคลื่อนภายใต้พันธกิจหลักของ มสธ. คือการใช้นวัตกรรมการศึกษาทางไกล  การศึกษาด้วยตัวเองเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนาตัวเองต่อเนื่องตลอดชีวิต  เพื่อการพัฒนาบุคลากรให้แก่สังคมอย่างยั่งยืน ด้วยนวัตกรรมการเรียนรู้วิถีใหม่ (New Normal) ที่เป็นการเรียนรู้เชิงบูรณาการระหว่างสหศาสตร์ สหวิธี และสหวัย ในรูปแบบของหลักสูตรระยะสั้น (Modular)  ที่เป็นหลักสูตร “สมรรถนะบัตร” จำนวน 1 หน่วยกิจ  และสามารถที่จะสะสมไว้ในระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) ของมหาวิทยาลัยได้ สามารถเข้าเรียนได้ตามความสะดวกตลอดเวลา

ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตาม การเรียนรู้ยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกช่วงวัยเสมอ ไม่เว้นแม้แต่กับผู้สูงอายุก็ตาม การเรียนรู้ และการพัฒนาตนเองของผู้สูงอายุนั้น จะเป็นการเพิ่มคุณค่า และดึงพลังของผู้สูงอายุออกมา ทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวันทั่วไป รวมถึงการเเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ และเพื่อนผู้สูงอายุด้วยกัน อีกทั้งยังสามารถเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ มีพลัง และเป็นพลังอย่างแท้จริง