สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 10 ม.ค. 65

+ ประเทศไทยตอนบน อากาศเย็นและมีหมอกในตอนเช้า ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกเล็กน้อย บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช (10 มม.) จ.แพร่ (3 มม.) และ จ.พะเยา (2 มม.)

+ เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ขอให้ติดตามและป้องกันผลกระทบจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง ประมาณ 1.8 – 2.0 ม.รทก. ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและบริเวณใกล้เคียง

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,526 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดใหญ่ 29,362 ล้าน ลบ.ม. (61%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เฝ้าระวัง ค่าความเค็มบริเวณ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่กลอง ส่วนปริมาณออกซิเจนละลายน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

+ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามการดำเนินการตาม 9 มาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2565 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์การใช้น้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกับ นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และผู้แทน กรมชลประทาน ณ สำนักงานชลประทานที่ 12 อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอสำหรับทุกกิจกรรมการใช้น้ำ ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค การเกษตร การรักษาระบบนิเวศและการผลักดันน้ำเค็ม

พร้อมลงพื้นที่เพาะปลูกนาข้าว บริเวณคลองส่งน้ำ 1 ซ้าย – 1 ขวา ตำบลถอนสมอ อำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี พร้อมรับฟังปัญหาของชาวนา ที่อยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล ในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชัณสูตร จังหวัดสิงห์บุรี ที่ประสบปัญหานาข้าว อายุ 30-50 วัน เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้แทนกรมชลประทานในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี รวมทั้งลงพื้นที่ปลายคลองส่งน้ำ 3 ซ้าย – 1 ขวา ตำบลแสวงหา อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดย กรมชลประทานจะจัดสรรน้ำด้วยการจัดหมุนรอบเวรส่งน้ำ และขอความร่วมมือเกษตรกรให้สูบน้ำตามความจำเป็นเท่านั้น เพื่อช่วยเหลือผลผลิตนาข้าวให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ตามกำหนด และขอให้ชะลอการปลูกข้าวรอบที่ 2 ออกไปก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต