สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 7 ม.ค. 65

+ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังอ่อน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

+ ปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณจ.น่าน (76 มม.) จ.สงขลา (45 มม.) และ จ.นครศรีธรรมราช (37 มม.)

+ เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูง ช่วงวันที่ 6 -10 ม.ค. 65 ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้าและบริเวณใกล้เคียง ระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.8-2.0 ม.
จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงขอให้ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

+ ปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 36,799 ล้าน ลบ.ม. (63%) ขนาดใหญ่ 29,606 ล้าน ลบ.ม. (62%) เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 5 แห่ง (เขื่อนแม่กวงฯ แม่งัด ภูมิพล แม่จาง และ สิริกิติ์)

+ คุณภาพน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง บางปะกง เฝ้าระวังค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนปริมาณออกซิเจนละลายน้ำต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

+ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ แผนงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (วันที่ 6 ม.ค. 65) คณะที่ 1.2 แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ครั้งที่ 1/2565) เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์การพิจารณาแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมกับ (ร่าง) แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งประกอบด้วย 23 หน่วยงาน 8 กระทรวง

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดลำดับความสำคัญของโครงการตามหลักเกณฑ์ และดำเนินการส่งให้สำนักงบประมาณ ใช้ในการพิจารณาคำขอตั้งงบประมาณปี 2566 ต่อไป
กอนช. ติดตามการบริหารจัดการน้ำ พร้อมเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้ง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้

กรมชลประทาน ดำเนินการตามมาตรการที่ 5 (วางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง) ติดตามผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ปัจจุบันพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ 3.59 ล้านไร่ คิดเป็น 56% ของแผนฯ โดยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 2.51 ล้านไร่ คิดเป็น 89% ของแผนฯ

กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการตามมาตรการที่ 2 (จัดหาแหล่งน้ำสำรองในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ) โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาล อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อส่งเสริมการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว(งบกลาง) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี อ.บรรพตพิสัย และ อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์