กศน. จัดงาน ประชุมวิชาการ “การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี”

กศน. จัดงาน ประชุมวิชาการ “การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตน ฯ ราชสุดา สยามบรมราชกุมารี” วันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นประธานการประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2564  “41 ปี ด้วยพระเมตตาแห่งการศึกษา พัฒนาวิชาการ-จริยธรรม งาน กพด.” ณ ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ดร.สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ดร.สุรศักดิ์ อินศรีไกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ผู้บริหารระดับสูง และข้าราชการหน่วยงานต่าง ๆ เฝ้ารับเสด็จฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบรรยาย เรื่อง “การพัฒนาเด็กและเยาวชนหลังโควิด-19”ว่า ตั้งแต่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จนเกิดสถานการณ์โควิด 2019  การทำงานมา 50 ปี ไม่เคยเห็นนักเรียน เรียนยากอย่างนี้ โรงเรียนก็ปิด เข้าไม่ได้ การเดินทางก็ยากลำบาก แต่ก็ไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะประเทศไทย ต่างประเทศก็ลำบากยิ่งกว่าเรา ดังนั้นทุกคนต้องปรับตัว  การพัฒนาการศึกษาที่สมดุลมี 4 ด้าน คือ

1.พุทธิศึกษา หมายถึงวิชาการด้านต่างๆ

2.จริยศึกษา เรื่องของคุณงามความดี ความคิดดี ซึ่งจริยศึกษาที่สำคัญและต้องสอน คือ เรื่องความซื่อสัตย์

3.หัตถศึกษา หรือการศึกษาที่ใช้มือหยิบจับ การทำงานช่างต่าง ๆ

4.พลศึกษา เพื่อให้ร่างกายและสมองแข็งแรงมีกำลัง ไม่ใช่มีแต่ความรู้ไม่มีพลังก็ไม่มีประโยชน์

อย่างไรก็ตามก็ยังมีปัญหา เรื่องคนที่ฟังและพูดภาษาไทยไม่ได้  ซึ่งก็ต้องแก้ปัญหาเรื่องฟัง พูด อ่าน เขียน แต่ช่วงโควิดก็ฝึกยาก ดังนั้นครูก็ต้องหาวิธีการใหม่ ๆ มาฝึกให้เด็กอ่านเขียน และต้องเอาจริงเอาจังกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีเรื่องสำคัญที่เป็นปัญหา คือ เรื่องโภชนาการและสุขอนามัย ที่พบว่าในช่วงที่เกิดโควิด-19 ปี 2562-2564 เด็กแรกเกิด-3ปี น้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์ ในบางกลุ่มและบางพื้นที่ โดยมีสาเหตุจากภาวะขาดสารอาหาร ซึ่งเรื่องนี้ต้องช่วยกันดู ต้องคุยกับครูเกษตรด้วยว่าอาหารประเภทไหนที่จะเป็นประโยชน์กับเด็ก ปัญหาที่พบในการเรียนออนไลน์ คือ ครูขาดทักษะในการสอนออนไลน์ ซึ่งจะโทษครูไม่ได้เพราะเป็นเรื่องใหม่ ก็ต้องมาหารือกันว่าจะทำอย่างไร อย่างสื่อ60 พรรษาสมเด็พระเทพรัตนราชสุดาฯ สำหรับระดับประถมศึกษา และสื่อ 65 พรรษาฯ สำหรับระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีอยู่ในถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทานก็ช่วยได้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19  สรุปคือ หลังโควิดต้องมีการปรับขนานใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องการฟัง อ่าน เขียน พูด การจัดการเรียนการสอนก็ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้รอบด้าน มีทักษะชีวิต ทักษะการทำงาน โดยต้องออกแบบการสอนแบบปฏิบัติที่เน้นให้เด็กนักเรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองว่าจะทำอย่างไร การสอนจริยธรรมคุณธรรมให้เป็นคนดีมีจิตอาสาหากต้องสอนออนไลน์จะทำอย่างไร  สิ่งสำคัญคือการสอนคุณธรรมจริยธรรมความซื่อสัตย์ ที่เน้นให้เด็กมีความซื่อสัตย์     ครูก็ต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย ส่วนการวัดและประเมินผลก็ต้องหลากหลายเหมาะสมกับวิธีการสอนรวมถึงต้องมีการนิเทศการสอนด้วย

น.ส. ตรีนุช กล่าวรายงาน ว่า สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักงาน กศน.  ได้ดำเนินงานจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพัฒนาผู้ยากไร้ ในพื้นที่ทุรกันดาร รวมถึงหน่วยงานร่วมสนองงานพระราชดำริที่ดำเนินการจัดการศึกษาในพื้นที่ทุรกันดาร ภายใต้โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ร่วมด้วยโครงการส่วนพระองค์ 905 โดยกำหนดจัดงานประชุมวิชาการ การพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระหว่างวันที่ 24 – 25 ธันวาคม 2564 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่

ดร.สุรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบให้เป็นที่ประจักษ์ เพื่อรวบรวมผลการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ของหน่วยงานร่วมสนองงานมาถวายทอดพระเนตร พร้อมรับแนวพระราชดำรินำไปพัฒนางาน รวมถึงการพัฒนาครูในพื้นที่ตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชน  ในถิ่นทุรกันดารและพื้นที่สูง โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานของผู้ปฏิบัติงานตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ให้มีความรู้ความเข้าใจแนวปฏิบัติ และสามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริฯ ฉบับที่ 5 พ.ศ. 2560 – 2569 ว่าด้วยการขยายผลเพิ่มเติมให้โรงเรียน หรือสถานศึกษาเป็นฐานของการพัฒนา และพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ดำเนินการในพื้นที่ ที่เข้าร่วมตามโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หน่วยงานร่วมสนองงานพระราชดำริ ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

ทั้งนี้ในช่วงบ่าย น.ส.ตรีนุช ได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสเบิกตัวคณะครู ผู้ชนะเลิศการประกวดแข่งขันแนวปฏิบัติ ที่ดี 6 ด้าน จํานวน 51 ราย เข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร  จากนั้นขอพระราชทาน พระราชวโรกาสฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะผู้บริหาร กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานร่วมสนองงานโครงการพระราชดําริ หน่วยงานสนับสนุน และคณะกรรมการ จัดงานฯ จํานวน 10 ชุด และขอพระราชทานพระราชวโรกาสกราบบังคมทูลเชิญ ใต้ฝ่าละอองพระบาท เสด็จฯ ทอดพระเนตรนิทรรศการการพัฒนาเด็กและเยาวชน ในถิ่นทุรกันดาร ตามลําดับ