ม.หอการค้าไทย แชร์มุมมอง “Future of Education” เน้นเรียนรู้คู่ปฏิบัติจริง พ่วงไอเดียศิลปะเพื่อธุรกิจแนวคิดใหม่ “สาย ARTS ก็ฟาดธุรกิจได้”

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำเสนอมุมมองต่อการศึกษาไทยในอนาคต ที่มีมากกว่าแค่การเรียนออนไลน์ ด้วยแนวคิด Future of Education เน้นสร้างการมีส่วนร่วมและประสบการณ์การทำงานจริงของผู้เรียน พร้อมพัฒนาทักษะการประยุกต์วิชาการเข้ากับกรณีศึกษาโดยอาจารย์ผู้สอน ให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ บนเวทีเสวนา HUB THINKS Onsite SPECIAL EP.0 #สุมหัวคิดรวมมิตรคนใจใหญ่ กิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิเทศศาสตร์การตลาด โดยรวบรวม “นักคิดระดับแถวหน้าของเมืองไทย” ร่วมแบ่งปันแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนศักยภาพคนรุ่นใหม่ ณ ศูนย์การค้า MBK Center เมื่อเร็ว ๆ นี้

ดร.พีรพงษ์ ฟูศิริ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าว่า เทรนด์การศึกษาในโลกยุคใหม่ เราพูดกันอยู่เสมอถึงการปรับตัวเพื่อพร้อมรับมือกับอนาคต จะเห็นได้ว่าวิธีการเรียนรู้ในปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะสถาบันการศึกษาเราต้องให้ไอเดียแก่ผู้เรียนในลักษณะ Learn how to learn กล่าวคือผู้เรียนต้องมีส่วนในการวางคอนเซ็ปท์ว่าตนเองควรจะต้องเรียนรู้ด้วยวิธีการใด  จึงจะได้ประโยชน์สูงสุด หากผู้เรียนขาดความเข้าใจเรื่องวิธีการการเรียนรู้ที่ดี การศึกษาก็สูญเปล่า นี่คือโจทย์สำคัญที่เราพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่วงการการศึกษา และอีกส่วนเป็นเรื่องของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งสิ่งที่สำคัญไม่ใช่เพียงแค่พื้นฐานองค์ความรู้ในเชิงวิชาการที่อาจารย์ผู้สอนท่านนั้น ๆ จะสามารถถ่ายทอดต่อผู้เรียนได้ หากแต่เป็นการนำเรื่องราวกรณีศึกษาที่อยู่นอกเหนือตำรา ซึ่งผู้สอนจะต้องสามารถนำมาเข้ามาผนวกรวมกับวิชาการพร้อมถ่ายทอดให้ผู้เรียนได้เข้าใจเนื้อหาอย่างถ่องแท้ เพราะฉะนั้นการประยุกต์รูปแบบเรียนการสอนจะมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความสนใจแก่ผู้เรียน สำหรับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรามีการพัฒนาระบบการเรียนการสอน และคณาจารย์ที่ต้องพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอในเรื่องการวิจัยเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงการเป็นมากกว่าอาจารย์ผู้สอน นั่นคือการเป็นที่ปรึกษา อนาคตของการศึกษาจะถูกปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจในโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง เรียกว่าเป็นการผสานโลกของธุรกิจและการทำงานจริง เข้ามาสู่คลาสเรียน

สถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ต้องมีความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การวางเนื้อหาการเรียนการสอน คือต้องให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือกมากที่สุด ได้แก่การเลือกกลุ่มสาขาวิชาที่เป็นไปตามความสนใจ รวมถึงสร้างรายวิชาใหม่ ให้ทันต่อเหตุการณ์และยุคสมัย ถือเป็นการสร้างความหลากหลายให้กับการศึกษา ตลอดจนให้ประสบการณ์การทำงานแก่ผู้เรียนนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาเป็นนักศึกษา แทนที่จะเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังจากสำเร็จการศึกษาออกไป ซึ่งเป็นมิติทางการศึกษาที่ต่างไปจากเดิม รวมถึงการสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่ต้องจูงใจผู้เรียนให้มีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยฯ ได้ปรับรูปแบบการเรียนการสอนที่ทำให้ผู้เรียน สามารถมองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจได้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงและสนุกสนานกับการเรียนรู้ที่ได้มีโอกาสลองผิดลองถูก เพื่อให้เกิดมุมมอง และความรู้ใหม่ อาทิ การเข้าแคมป์กิจกรรม การเรียนรู้ประสบการณ์ผ่านวิทยากรซึ่งเป็นพันธมิตรของหอการค้าไทย การแข่งขันแผนธุรกิจ การทดลองเทรดหุ้น เป็นต้น เหล่านี้คือการสร้าง Business environment ทำให้นักศึกษาในแต่ละคณะ สาขาวิชา ได้มี Business mild ร่วมกัน นั่นคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยฯ คาดหวังและยังคงปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“จากความเชื่อในอดีตที่สั่งสมมา ซึ่งเราต่างเข้าใจว่า การเรียนแบบออฟไลน์ หรือการเรียนในห้องเรียนที่จะทำให้ระหว่างผู้เรียน ผู้สอน สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ได้นั้น ปัจจุบัน เราเห็นได้จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความกระตือรือร้น และตื่นเต้นที่จะสัมผัสกับเทคโนโลยีดิจิทัล โจทย์สำคัญของการศึกษายุคใหม่คือ จะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในโลกออนไลน์มีการสื่อสารโต้ตอบระหว่างผู้เรียนและผู้สอน หรือ Two ways communication สถาบันการศึกษาในทุกระดับต้องปรับตัวให้เท่าทันขีดความสามารถการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดตามกระแสโลก และพร้อมที่จะทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน เพราะเขาสามารถเรียน ทำงาน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ได้ในทุกจังหวะชีวิต เพราะบทบาทของเทคโนโลยีจะยิ่งทวีความสำคัญต่อโลกของพวกเขา” รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาด ม.หอการค้าไทย กล่าวทิ้งท้าย

นอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาที่ขึ้นชื่อเรื่องการสร้าง “เด็กหัวการค้า” แล้ว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ก็ไม่ได้มองข้ามมิติเรื่องการสร้าง “เด็กหัวศิลป์” ที่มีบทบาทต่อการมอบพลังการขับเคลื่อนธุรกิจให้เกิดชีวิตชีวา ในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับสายอาร์ท อย่างนิเทศศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ และอื่น ๆ ก็แสดงให้เห็นว่า ในธุรกิจทุกแขนงต้องแฝงงานศิลปะไว้อย่างแนบเนียน เพื่อให้เกิดเป็น Brand Identity ที่สร้างการจดจำแก่ผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของอีกหัวข้อเสวนา “สาย ATRS ก็ฟาดธุรกิจได้”

ผศ.ดร.มานา ปัจฉิมนันท์ คณบดีบัณทิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยแนวคิดการผนวกรวมศิลปะเข้ากับเรื่องของธุรกิจว่า ภารกิจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คือการผลิตบัณฑิตเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการแบบ “เด็กหัวการค้า” แต่เราไม่ได้มีเพียงคณะด้านธุรกิจเท่านั้น เรายังมีคณะและสาขาวิชาที่จะสร้างเด็กสายอาร์ท อย่างนิเทศศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งล้วนมีความเป็น “เด็กหัวศิลป์” สำหรับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เราสอนศิลปะที่นำไปใช้ส่งเสริมหรือสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ เช่น สอนเรื่องศิลปะการสื่อสารแบบ Storytelling การสื่อสารการตลาด การสร้างแบรนด์ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ศิลปะจึงมีบทบาทสำคัญต่อธุรกิจอยู่ไม่น้อย แม้กระทั่งธุรกิจโรงแรม การจัดอีเว้นท์ การสร้างผลิตภัณฑ์ ก็ยังต้องอาศัยการออกแบบเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้บริโภค กล่าวคือในการทำธุรกิจจะพึ่งพาศาสตร์ด้านการบริหาร การค้า ที่พูดแค่เรื่องกำไร ขาดทุนเพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจเรื่องศิลปะที่จะจูงใจ สร้างการจดจำ ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแบรนด์หรือธุรกิจนั้น ๆ โดยการนำศิลปะเข้ามาผสมผสาน เพื่อช่วยเพิ่มคุณค่า (Value) ที่เหนือกว่าการแข่งขันด้านราคา ศิลปะจะช่วยเติมเต็มชีวิตชีวา สร้างจิตวิญญาณ บุคลิกภาพและอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้มีเสน่ห์และมีชีวิตเหมือนกับคนหนึ่งคน ที่สามารถแสดงตัวตนและเป็นเพื่อนกับผู้บริโภคได้ เพราะในปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่ได้คำนึงเพียงแค่ประโยชน์ในการใช้สอย (Functional) เท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงคุณค่าในเชิงอารมณ์ (Emotional) ที่ต้องสัมผัสด้วยความรู้สึก

ดร.โศภชา เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวเสริมในแง่มุมของการสื่อสารการตลาดว่า รากฐานของนิเทศศาสตร์นั้น หมายถึงการสื่อสาร ทั้งในรูปแบบวัจนภาษา (Verbal Communication) และอวัจนภาษา (Non-Verbal Communication) ที่จะนำไปสู่การถอดรหัสความหมายโดยผู้รับสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้ส่งสาร ซึ่งในที่นี้หมายถึงผู้ประกอบการ ต้องการจะสื่อออกไป ในปัจจุบันภาษาที่ใช้ในการสื่อสารเพื่อการตลาด จากที่นิยมใช้เพียง 2 ภาษา ซึ่งเรามักจะนับภาษาอังกฤษ เป็นภาษาที่ 2 ปัจจุบันก็มีความจำเป็นมากขึ้นที่เราต้องมีภาษาที่ 3 เพื่อเข้าถึง และสามารถอธิบายเรื่องราวแก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างยอดขายด้วยกำลังซื้อที่สูง เมื่อบูรณาการร่วมกับอวัจภาษา อย่าง mood and tone การออกแบบซึ่งใช้ศิลปะเป็นศาสตร์หลักในการสร้างสรรค์ ก็จะยิ่งสร้างความน่าสนใจให้แบรนด์ธุรกิจยิ่งขึ้น

เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ สรุปได้ว่าศิลปะเพื่อการพาณิชย์ ไม่ใช่แค่การใช้สีสัน mood and tone เพื่อการออกแบบโลโก้ บรรจุภัณฑ์ หรือสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์ และกระตุ้นการจดจำต่อธุรกิจเท่านั้น อีกหนึ่งแขนงศิลปะที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อโลกการค้า นั่นคือศิลปะการใช้ภาษาอย่างเข้าใจในบริบท เพื่อการนำไปใช้อย่างสร้างสรรค์และถูกต้อง การเข้ามาของผู้บริโภคต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีน ทำให้ภาษาที่สามอย่างภาษาจีนยิ่งทวีความสำคัญมากกว่าที่เคยเป็น ด้วยจำนวนประชากรที่มากที่สุดในโลก และการแทรกซึมเข้าไปมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวในทั่วทุกมุมโลก พร้อมกำลังซื้อที่น่าจับตามอง

รศ.ดร.บุรินทร์ ศรีสมถวิล ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนเพื่ออาชีพ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เล่าถึงความสำคัญของศิลปะการใช้ภาษาที่สาม อย่างภาษาจีนเพื่อการสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจว่า ในปัจจุบันภาษาจีน เป็นภาษาที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับภาษาอังกฤษ ที่คนทั่วโลกใช้เป็นภาษาสากล เนื่องด้วยกำลังซื้อและจำนวนประชากรของชาวจีนที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก ในมิติของการสร้าง Story telling เราสามารถใช้ศิลปะทางภาษาเป็นสื่อกลางในการสร้างความรู้ ประสานความเข้าใจระหว่างชนชาติในฐานะผู้บริโภค บนบรรทัดฐานของเนื้อหาเดียวกัน สามารถกล่าวได้ว่าศิลปะและทักษะทางภาษา สามารถเป็นสะพานเชื่อมผู้ประกอบการยุคใหม่สู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น แม้ว่าภาษาจีนจะถูกมองว่าเป็นภาษาที่เรียนรู้ได้ยากที่สุด แต่หากผู้เรียนเริ่มหัดเรียนรู้ภาษาจีนอย่างเป็นระบบ ผู้เรียนจะรู้สึกว่าภาษาจีนไม่ยากอย่างที่คิด เพราะภาษาจีนเป็นภาษาที่มีธรรมชาติ มีบริบทการใช้งาน หากเราสามารถสร้างระบบการเรียนรู้ที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจได้ ภาษาจีนก็ไม่ใช่ภาษาที่ยากเกินไป แม้จะมีคำศัพท์และพยัญชนะที่มากเกินความสามารถในการจดจำในระยะเวลาสั้น ๆ แต่ในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ท แอพลิเคชั่นต่าง ๆ ก็สามารถช่วยแก้ปัญหาความเข้าใจเรื่องภาษาได้อย่างดี หลักสูตรศิลปศาสตรฯ สาขาวิชาภาษาจีนเพื่ออาชีพ เราพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนเพื่อสร้างวิธีการทำความเข้าใจต่อภาษาจีนของผู้เรียนที่ง่าย ทั้งวิธีการอ่านเขียน ทำความเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด

นับเป็นไอเดียเพื่อการศึกษายุคใหม่ที่น่าจับตามอง ทั้งการสร้างมิติใหม่เพื่อการเรียนรู้โลกธุรกิจ ที่ตำราวิชาการยังคงความสำคัญเท่าเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือประสบการณ์ที่ไม่หยุดนิ่ง พร้อมการชูความสำคัญของศิลปะต่อโลกธุรกิจ ที่ไม่ได้พูดถึงแค่เรื่องต้นทุน กำไร และการส่งเสริมการขาย หากแต่ต้องใส่ใจในคุณค่าทางสุนทรียภาพที่ผู้ประกอบต้องหยิบยื่นแก่ผู้บริโภค สร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน ที่เป็นมากกว่าเรื่องราคาที่จูงใจผู้ซื้อ แต่ครองใจด้วยประสบการณ์