วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม 2564 เวลา 14.00 – 16.30 น. ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี ฯ ฉบับสมบูรณ์ 2 ภาษา (ไทย – อังกฤษ) โดยมีนายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ประกอบด้วย นางรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ นายกุลวิทย์ เลาสุขศรี นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ และผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผ้าลายขอพระราชทาน นายอภิชาติ พลบัวไข กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประเภทผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป และ นายธงชัย พันธุ์สง่า ห้องเสี้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง ประเภทผ้ายกเล็ก และประเภทสีเทรนด์บุ๊ค เหรียญทอง ร่วมแถลงข่าว
โดยหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้บรรจุข้อมูลพระกรณียกิจและพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในเรื่องการพระราชทานลายผ้าสู่ประชาชน โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย และรายละเอียดข้อมูลการประกวด “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” รวมถึง คอลเลคชั่นผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง และคอลเลคชั่นที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า ๑๐ ท่าน ที่มีรูปแบบที่หลากหลายน่าสนใจ เทคนิคต่างๆ บนผืนผ้า ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ ตลอดจนนำไปพัฒนาศักยภาพผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่ชุมชน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาหัตถกรรมไทย ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป โดยจัดพิมพ์ จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อเป็นบทบันทึกประวัติศาสตร์ทางด้านการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยให้ดำรงอยู่คู่แผ่นดิน
นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงความเป็นมาของหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่ช่างทอผ้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ที่สื่อถึงการพระราชทานความรักและความสุขแก่ชาวไทยทุกคนในโอกาสเสด็จฯ ไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ด้วยมีพระประสงค์ให้เป็นการจุดประกายความคิด ในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้รับสนองพระกรุณาธิคุณมอบแบบลายผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปสู่กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มทั่วทุกภูมิภาค โดยถือเอาฤกษ์มหามงคลในวันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่านในวันที่ 8 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา นำความปลาบปลื้มมาสู่เหล่าข้าราชการ กรมการพัฒนาชุมชน ภาคีเครือข่ายกลุ่มศิลปิน กลุ่มทอผ้าเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งได้จัดทำโครงการส่งเสริม ภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย และการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โดยมีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ คือ
1) เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย
2) เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทย ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
3) เพื่อพัฒนาศักยภาพผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น องค์ความรู้ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน
4) เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ้าไทยแต่ละประเภทให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายผ่านการประกวดผ้าลายพระราชทาน จำนวน 76 จังหวัดโดยได้จัดให้มีการแถลงข่าวเปิดรับสมัครการประกวดขึ้น เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 อันเป็นที่มาของหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เล่มนี้
อธิบดี พช.กล่าวต่อไปว่า การประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เป็นสิ่งที่นำมา ซึ่งความภาคภูมิใจที่กรมการพัฒนาชุมชน สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และทุกภาคีเครือข่าย ได้มีโอกาสน้อมนำ เอาแนวพระราชดำริในวิถีของการวิจัยและพัฒนา หรือ R&D ผ้าไทยให้ได้รับการยกระดับ คุณภาพและมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องกลุ่มทอผ้าทั้งหลายได้พัฒนาฝีมือ ค้นหาเทคนิควิธีการในการผลิตผ้าไทยให้ดีขึ้น เหมาะสมแก่การตัดเย็บเสื้อผ้าสมัยใหม่ เหนือล้ำ ไปกว่าการมุ่งหวังผลแพ้ชนะ คือการสืบสาน รักษา และต่อยอดแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์อุปถัมภ์แห่งศิลปาชีพไทย ที่ทรงริเริ่มนำหัตถกรรมพื้นถิ่น เสน่ห์ของงานฝีมือดั้งเดิม และวิถีชีวิตให้กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างมั่นคง ซึ่งการที่คนไทยทุกคน หันมาสวมผ้าไทย จะทำให้เกิดการสนับสนุน การสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการในชุมชน อันเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความมั่นคง สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำให้เกิดการหมุนเวียนในห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจระดับประเทศ
ซึ่งนอกจากพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แล้ว พระองค์ยังทรงปลุกกระแสการสวมใส่ผ้าไทยตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้ใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชนเป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน นับเป็นพระอัจฉริยภาพที่จุดประกายการสวมใส่ผ้าไทยในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ที่สามารถสวมใส่ได้ทุกเทศกาล ส่งผลให้การพัฒนาผ้าทอมีการยกระดับฝีมือทั้งต้นน้ำ เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม มีกระบวนการคัดเลือกพันธุ์ การเลี้ยงที่มีคุณภาพ กลางน้ำ มีกรรมวิธีในการสาวไหม การคัดเลือกรังไหม การย้อมผ้า การทอที่มีการออกแบบ สร้างลวดลายวิจิตร ที่ได้พัฒนาต่อยอดลายผ้าพระราชทาน บนเทคนิคการทอในรูปแบบต่าง ๆ ตามภูมิปัญญาและวิถีของชุมชน ปลายน้ำ มีการออกแบบชุดที่ทันสมัยมีความงดงาม มีการส่งเสริมช่องทางการตลาดจนเป็นที่ยอมรับและต้องการของลูกค้าจำนวนมาก ส่งผลให้ผ้าไทยมีตลาด ที่เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – พฤศจิกายน 2564 มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไทย กว่า 7,900 ล้านบาท และมียอดจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ กว่า 400 ล้านบาท มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 122,000 คน”
ด้าน ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน ได้กล่าวถึงความร่วมมือ ระหว่างสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กับกรมการพัฒนาชุมชนว่า ตลอดระยะเวลา 7 ทศวรรษ ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อการอนุรักษณ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทย ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ได้ตามเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในคราวเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2498 ได้ทอดพระเนตรเห็นราษฎรนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่กันเป็นส่วนใหญ่ จึงได้มีพระราชดำริว่าควรจะมีการนำภูมิปัญญาของราษฎรที่ได้ทอผ้าไว้ใช้กันอยู่มาพัฒนาเป็นอาชีพให้เกิดรายได้แก่ราษฎร ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้ทรงก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถขึ้น เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ปีพุทธศักราช 2519 เพื่อทำการฝึกอาชีพเสริมให้กับราษฎร อีกทั้งยังมีพระประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของคนไทยให้คงอยู่สืบไป
สภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้ตระหนักและเห็นควรส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศสวมใส่ผ้าไทย เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดความภาคภูมิใจ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่ชาวบ้านผู้ประกอบอาชีพทอผ้า จึงได้จับมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการสานต่อพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกันจัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”
ด้านที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คุณรติรส ภู่วิภาดาวรรธน์ ได้กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน ราชกัญญา มีพระปณิธานตั้งมั่นที่จะสืบสานและต่อยอดพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าในการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทย พระองค์เสด็จไปทรงเยี่ยมช่างทอผ้า ทอดพระเนตรงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ได้รับส่งต่อมาจากบรรพบุรุษในทุกภูมิภาคของประเทศ พร้อมทั้งพระราชทานพระวินิจฉัยในการพัฒนาลวดลาย และทรงแนะนำแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัยและมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น อันเป็นที่มาของโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปหัตถกรรมไทย เป็นการสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน สร้างวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค อีกทั้งพระองค์ยังได้ทรงออกแบบลายมัดหมี่พระราชทานแก่ช่างทอผ้า เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ ที่สื่อถึงการพระราชทานความรักและความสุขแก่ชาวไทยทุกคนในชื่อลาย “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในโอกาสที่เสด็จไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ด้วยมีพระประสงค์ให้เป็นการจัดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่ทรงออกแบบด้วยฝีพระหัตถ์เพื่อพระราชทานให้ศิลปินช่างทอผ้าทุกลวดลายเปี่ยมล้นไปด้วยความหมาย ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยลวดลาย S จะมีทั้งหมด 10 แถว ซึ่งมีความหมายถึงพระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึงความรักที่พระองค์มีและส่งมอบต่อประชาชนชาวไทยทุกคน
คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก ได้กล่าวเสริมว่า ในการเตรียมความพร้อมการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Coaching) โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทย เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องแบบลายผ้าลายพระราชทาน การออกแบบลายโดยนำลายพระราชทานมาเป็นต้นแบบผสมผสานกับลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น การให้สีตาม เทรนด์สี การคัดเลือกเส้นใยธรรมชาติ การย้อมเส้นใยด้วยสีธรรมชาติ และการทอ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้า และ ช่างทอผ้าทั่วประเทศ ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2564 ควบคู่กับการรับสมัครผ้าส่งเข้าประกวด ดำเนินการจำนวน 8 ครั้ง ๆ ละไม่น้อยกว่า 50 คน ในพื้นที่ ๘ จังหวัด ได้แก่
1) สกลนคร
2) มหาสารคาม
3) ขอนแก่น
4) ลำพูน
5) สุราษฎร์ธานี
6) อุทัยธานี
7) นครราชสีมา
8) จังหวัดอุดรธานี
โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งหมด จำนวน 518 คน ซึ่งได้มีการรวบรวมจัดทำชุดองค์ความรู้ ที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Coaching) ในรูปแบบภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวเพื่อการประชาสัมพันธ์และใช้เป็นสื่อการเรียนรู้แก่กลุ่มทอผ้า
คุณกุลวิทย์ เลาสุขศรี ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก กล่าวเพิ่มเติมว่าการประกวด “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ได้ดำเนินการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – เดือนตุลาคม 2564 และได้เปิดรับสมัครตังแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีผู้ส่งผ้าเข้าประกวดถึง 3,215 ผืน จาก 15 ประเภทผ้า ตามเทคนิค/เอกลักษณ์ของผ้าประจำถิ่นของจังหวัดนั้น ๆ
ซึ่งในรอบรองชนะเลิศมีผ้าที่ผ่านรอบแรก จำนวน 150 ผืน และผ่านการคัดเลือกเข้ารอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ จำนวน 50 ผืน โดยทรงเสด็จเป็นองค์ประธานการประกวดระดับประเทศเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 อีกทั้งทรงพระราชทานเหรียญรางวัลแก่ ผู้ชนะการประกวดผ้าลายพระราชทานระดับประเทศ และทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าชนะการประกวด นิทรรศการเหรียญพระราชทานและการแสดงแบบ “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ในงาน OTOP MIDYEAR 2021 CELEBRATE THAI CULTURE เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าไทยสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัย ทุกโอกาส และสร้างรายได้กลับเข้าสู่ชุมชน รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทยและสร้างศิลปินช่างทอผ้ารุ่นใหม่ ณ ทรูไอคอนฮอลล์ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม 2564
ซึ่งอธิบดี พช. ได้กล่าวถึงรายละเอียดในหนังสือว่า “หนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ บรรจุข้อมูลพระกรณียกิจและพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในเรื่องการพระราชทานลายผ้าสู่ประชาชน โดยในปี 2563 เสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาคเหนือ ณ จังหวัดลำพูน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ จังหวัดสกลนคร ในปี 2564เสด็จทอดพระเนตรผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส ข้อมูลผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย และการประกวดผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ โดยเริ่มจากการอบรมเชิงปฏิบัติการเตรียมความพร้อมการประกวดผ้าลายพระราชทาน จำนวน 8 จุดทั่วประเทศ มีกลุ่มทอผ้าเข้าร่วมอบรมกว่า 500 คน โดยหลักสูตรการอบรมมุ่งเน้นองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาลวดลาย เทคนิคการย้อมสีธรรมชาติ และการทอผ้า เป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับเทรนด์แฟชั่นล่าสุด นำมาซึ่งผลิตภัณฑ์ผ้าไทยที่มีความร่วมสมัยและมีความเป็นสากล เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไทย สนองพระดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงต้องการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการให้มีองค์ความรู้ และสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบและผลิตผ้าไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และภายในเล่มยังมีรายละเอียดข้อมูลการประกวดในระดับภาค การประกวดรอบรองชนะเลิศ และการประกวดรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ตลอดจนผ้าที่ได้รับรางวัลแต่ละประเภท จำนวน 150 ผืน และรางวัลการประกวด ประกอบด้วยรางวัล The Best of The Best รางวัลสี Trend Book รางวัลชนะเลิศเหรียญทอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เหรียญเงิน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 เหรียญทองแดง และรางวัลชมเชย แต่ละประเภท โดยรางวัลเหรียญพระราชทาน รูปแบบเหรียญเป็นพระพักตร์ด้านข้าง พระเกศาทัดบุปผาราชินี “ดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์” ที่ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง มีนัยสะท้อนชัดเจนถึงการทรงงานอย่างมุ่งมั่นเพื่อยกระดับคุณค่าของผ้าไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ตามพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ต้องการเผยแพร่ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ พัฒนาศักยภาพวงการผ้าไทยให้มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับสู่สากล อีกทั้ง ในหนังสือผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ยังมีคอลเลคชั่นผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบด้วยพระองค์เอง และคอลเลคชั่นที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์นักออกแบบที่มีชื่อเสียงระดับโลกกว่า 10 ท่าน ที่มีความหลากหลายรูปแบบในแต่ละคอลเลคชั่นที่น่าสนใจ” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย
คุณอภิชาติ พลบัวไข กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี ได้กล่าวถึงความประทับใจในการได้รับพระราชทานแบบผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ นำไปเป็นต้นแบบในการทอผ้า และการประกวดผ้าลายพระราชทาน รวมถึงรายได้ที่ได้รับจากการจำหน่ายผ้าลายพระราชทาน ว่า “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก จังหวัดอุดรธานี ได้มีการพัฒนานวัตกรรมการย้อมสีบัวแดงเพื่อให้ได้สีที่มีความหลากหลาย และได้สีใหม่ออกมาคือสีเทาดำ จากการย้อมด้วยสายบัวและหมักโคลนจากหนองน้ำในพื้นที่หมู่บ้าน ทำให้ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ที่กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกทำการทอ ออกจำหน่ายขายดีมาก จนลูกค้าต้องสั่งออเดอร์ และรอรับผ้าลายขอฯ ตามคิวที่สั่ง ซึ่งจนถึงขณะนี้มีการรับออเดอร์จากลูกค้าอยู่ตลอด จากน้ำพระทัยอันยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงออกแบบและพระราทานลายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทำให้ชาวบ้านโนนกอก ได้มีอยู่ มีกิน มีคุณภาพชีวิตที่ดีแม้ยามเกิดภาวะการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 นับถึงปัจจุบันทางกลุ่มได้รับออเดอร์ถึง 2,000 เมตร เป็นเงินกว่า 1 ล้านบาท รวมรายได้ที่กลุ่มได้รับจากการจำหน่ายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ร่วม 10 ล้านบาท นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้”
คุณธงชัย พันธุ์สง่า ห้องเสื้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา ได้กล่าวเสริมว่า “ห้องเสื้อดีเทล จังหวัดนครราชสีมา ได้น้อมนำแบบลายผ้าที่ได้รับพระราชทานมาทอในรูปแบบของผ้ายกหัวเมืองโคราช ซึ่งมีการทอมาตั้งแต่โบราณ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการได้รับพระราชทานแบบลายผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และได้เข้าร่วมการอบรมโค้ชชิ่งเรื่องการออกแบบลายผ้า เทรนด์สี การย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งจากการได้เข้าร่วมอบรมโค้ชชิ่งผ้าลายขอฯ จากผู้เชี่ยวชาญทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทอผ้าส่งเข้าประกวดจนได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทผ้ายกเล็ก และได้รับรางวัลพิเศษด้านการให้สีตามสีเทรนด์บุ๊ค สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มได้มีอยู่ มีกินในยามวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 รวมกว่าล้านบาท นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ที่พระองค์ทรงมีต่อปวงข้าพระพุทธเจ้าชาวกลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มทุกคน”