ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบัน (13 ธ.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 58,828 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 34,896 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,644 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 7,948 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 (วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 30 เมษายน 2565) จากปริมาณน้ำต้นทุน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 37,857 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้งทั้งประเทศจำนวน 22,280 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับความสำคัญดังนี้ เพื่อการเกษตรฤดูแล้ง 11,785 ล้าน ลบ.ม. เพื่อการอุปโภค-บริโภค 2,535 ล้าน ลบ.ม. อุตสาหกรรม 518 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 7,442 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝนปี 65 อีก 15,577 ล้าน ลบ.ม. สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยามีแผนจัดสรรน้ำในฤดูแล้ง 5,700 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 2,415 ล้าน ลบ.ม. (พืชฤดูแล้ง 445 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่คาดการณ์ปลูกข้าวนาปรัง 1,970 ล้าน ลบ.ม.) เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,150 ล้าน ลบ.ม. เพื่ออุตสาหกรรม 135 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 2,000 ล้าน ลบ.ม.
ปัจจุบัน(13 ธ.ค.64) ผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี64/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 1.84 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 28.72 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 1.20 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 42.62 ของแผนฯ โดยได้จัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 5,349 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 24 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ ป่าสักฯ) จัดสรรน้ำไปแล้ว 1,019 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของแผนฯ
ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา พิจารณาเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและจัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 65 ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมติดตามสถานการณ์น้ำและควบคุมคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งบริหารจัดการน้ำด้วยความประหยัด สอดคล้องกับสถานการณ์ ตลอดจนประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการน้ำ ให้ทุกภาคส่วนเกิดความร่วมมือในการใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี