“พาณิชย์” ชี้ แนวโน้มฮอตฮิตชาวสิงคโปร์นิยมขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพมาแรงในตลาดสิงคโปร์ หลังคนบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีส่วนผสมของเกลือ น้ำตาล และไขมันลดลง แต่หันมาบริโภคสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น ชี้สแน็คหรือแครกเกอร์ที่ทำจากข้าวมีโอกาสสูง แนะผู้ผลิตไทยวางแผน      ชิงส่วนแบ่งตลาด

นางจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ ถึงการวิเคราะห์ทิศทางและโอกาสสินค้าขนมขบเคี้ยวของไทยในตลาดสิงคโปร์ โดยพบว่าปัจจุบันการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้รูปแบบเดิม เช่น การใช้เกลือ น้ำตาล และไขมันเป็นส่วนผสม เริ่มได้รับความนิยมลดลง เพราะกลุ่มผู้บริโภคได้หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น จึงลดการบริโภคสินค้าในกลุ่มนี้ลง แต่หากเป็นขนมขบเคี้ยวที่ดี  ต่อสุขภาพ และได้รับเครื่องหมาย Healthier Choice หรือ Healthier Snack จะเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากขึ้น

“ได้มีการสำรวจโดย Euromonitor พบว่าปริมาณและมูลค่าของสินค้าขนมขบเคี้ยวที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มถั่ว สแน็คหรือแครกเกอร์สแน็ค ที่ทำจากข้าว จะมีโอกาสขยายตัวได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคในสิงคโปร์เริ่มหันมาบริโภคสแน็คแทนการรับประทานอาหาร   มื้อหลัก ทำให้ขนมขบเคี้ยวกลุ่มสุขภาพได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้ของไทย ที่จะวางแผนในการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดสิงคโปร์ให้ได้เพิ่มขึ้น”นางจันทิรากล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าขนมขบเคี้ยวแบบดั้งเดิมในสิงคโปร์ มียอดขาย 236.40
ล้านเหรียญสิงคโปร์ กลุ่มสินค้าประเภทถั่ว เมล็ดต่างๆ และถั่วแบบผสม มียอดขาย 82.12 ล้านหรียญสิงคโปร์ และกลุ่มสินค้าประเภทป๊อบคอร์น มียอดขายอยู่ที่ 6.89 ล้านเหรียญสิงคโปร์ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดขนม
ขบเคี้ยวในสิงคโปร์ พบว่า ส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 คือ Camel มีสัดส่วน 21.46% อันดับ 2 คือ Jacob’s
มีสัดส่วน 7.06% และส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 คือ Tong Garden มีสัดส่วน 6.30%

ทางด้านช่องทางการจำหน่ายขนมขบเคี้ยวในสิงคโปร์ สามารถแบ่งได้ 2 ช่องทางใหญ่ คือ
การจำหน่ายในร้านค้าปลีกที่มีหน้าร้าน และการจำหน่ายที่ไม่มีหน้าร้าน เช่น ออนไลน์และเครื่องจำหน่ายสินค้า (Vending Machine) ส่วนยอดการจำหน่าย พบว่า การจำหน่ายในร้านค้าปลีก เพิ่ม 97.9%
ร้านสะดวกซื้อ เพิ่ม 17.8% ซุปเปอร์มาร์เก็ต เพิ่ม 8.9% ไฮเปอร์มาร์เก็ต เพิ่ม 40.5% และการจำหน่ายแบบออนไลน์และเครื่องจำหน่ายสินค้า เพิ่ม 2.1%

จากข้อมูลสถิติการค้า ปี 2560  ไทยส่งออกไปยังสิงคโปร์ สูงเป็นอันดับ 9 รองจาก จีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยการค้าระหว่างไทย – สิงคโปร์ ปี 2560    มีมูลค่ารวม 553,133 ล้านบาท เป็นมูลค่าส่งออกไปยังสิงคโปร์ 281,087 ล้านบาท และนำเข้า 272,046   ล้านบาท โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 9,041 ล้านบาท และตัวเลข 2 เดือนแรก(ม.ค.-ก.พ.) ของปี 2561    ไทยส่งออกไปยังสิงคโปร์ มีมูลค่า 39,236 ล้านบาท และนำเข้า 37,823 ล้านบาท