(8 ธันวาคม 2564) ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานพิธีส่งมอบงานถ่ายโอนภารกิจและการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น พร้อมมอบนโยบาย ทิศทาง และเป้าหมายในการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น โดยมี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทย (H.E. Mr. NASHIDA Kazuya), ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) (Mr. Morita Takahiro), ผู้แทนจาก National Institute of Technology, Japan (Prof.Dr. ANDO Yasonori), เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วม ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สป.อว.
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เผยว่า ภารกิจโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น ต่อจากกระทรวงศึกษาธิการนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนากำลังคนด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกรเชิงปฏิบัติ ที่มีความพร้อมทั้งทักษะและกระบวนการคิดเชิงวิศวกรรม ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เป็นความร่วมมือระดับทวิภาคีระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทย สถาบันไทยโคเซ็นเป็นตัวอย่างที่ดีมากในการบูรณาการการเรียน การสอนเข้ากับการทำงานในสถานที่จริง นักศึกษาจะได้รับความรู้ทางทฤษฎีในระดับมหาวิทยาลัย ควบคู่กับการเรียนรู้การทำงาน กระบวนการคิด และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ นักศึกษาไทยโคเซ็นยังได้รับโอกาสเรียนรู้จากคณาจารย์ระดับปริญญาเอกและผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น และมีโอกาสไปแลกเปลี่ยนหรือฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรมที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทั้งทักษะความสามารถที่ตนมีและ ทักษะแบบมืออาชีพ ดังนั้น ด้วยเวลาเพียง 5 ปี นักศึกษาไทยโคเซ็นจึงสามารถทำงานให้ภาคอุตสาหกรรมได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา เพราะนักศึกษาโคเซ็นทฤษฎีแม่น ปฏิบัติจริง และสามารถเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนกำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี
นอกจากการพัฒนาและผลิตนักศึกษา โครงการไทยโคเซ็นยังมีการพัฒนาบุคลากรแบบครบวงจร คือ พัฒนาทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน รวมไปถึงผู้บริหารสถาบัน โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจาก National Institute of Technology ประเทศญี่ปุ่น เป็นพี่เลี้ยงการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรของสถาบันไทยโคเซ็น ซึ่ง อว.มีความเชี่ยวชาญในด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยจะมีสำนักงานปลัด อว. ผนึกกำลังกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์ในระดับชั้นนำของประเทศเข้ามาเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก เพื่อป้อนนักศึกษาไทยโคเซ็นเข้าสู่ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม และที่สำคัญอย่างยิ่ง อว.ยังมีหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานโครงการที่เป็นแหล่งเรียนรู้และช่วยเชื่อมโยงการพัฒนาการเรียนการสอนและการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง
ด้าน ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สป.อว. สจล. และ มจธ. ได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานโครงการจัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น โดยกำหนดแนวทางขับเคลื่อนงานใน 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านการสร้างคนเพื่อพัฒนาไปเป็นวิศวกรนักปฏิบัติ นักเทคโนโลยี และนวัตกร ที่ตอบโจทย์ประเทศ และการสร้างความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม มิติด้านการพัฒนา โดยการพัฒนาหลักสูตรไทยโคเซ็นใน 6 หลักสูตร และการพัฒนาคน และมิติด้านการสนับสนุน ในด้านวิชาการผ่านงานวิจัยและเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรม.