สอวช. แนะมหาวิทยาลัยราชภัฏปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เตรียมความพร้อมสร้างบัณฑิตตอบโจทย์งานรูปแบบใหม่ และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต

(8 ธันวาคม 2564) ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เพื่อร่วมบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “ประเด็นสำคัญการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษา” ภายใต้กิจกรรมบรรยายพิเศษแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกิจกรรมมอบนโยบายสภามหาวิทยาลัย “5 ปีข้างหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต PKRU Next” จัดขึ้น ณ ห้องประชุมสภามหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ชั้น 4 อาคารเฉลิมพระเกียรติ และผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้ร่วมรับฟังกว่า 380 คน

ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า ในโลกยุคใหม่มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดบุคลากรและระบบการจ้างงาน มีการลดจำนวนพนักงานลงชั่วคราว 25% และเลิกจ้างถาวรกว่า 20% ส่วนสำคัญคือมหาวิทยาลัยต้องมาดูว่าจะเตรียมบัณฑิตให้จบออกไปแล้วสามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีอาชีพได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่งเสริมคือการ Reskill Upskill ให้สอดคล้องกับภาคส่วนที่จะเปิดรับบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายสาขาที่แม้ภาคเศรษฐกิจจะซบเซาแต่ธุรกิจนั้นยังมีการเติบโต เช่น อุตสาหกรรมอาหาร, ดิจิทัล, โลจิสติกส์ เป็นต้น

ในแง่ของการเกิด Digital Disruption จะทำให้เกิดการกระเพื่อมขึ้นของกิจการในทุกองค์กร เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ ที่มหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบโดยตรงในการปรับตัวเพื่อผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์งานใหม่ที่เกิดขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล, ปัญญาประดิษฐ์, อีคอมเมิร์ซ, วิศวกรหุ่นยนต์, ผู้เชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์, ระบบอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีงานใหม่ในด้านสังคม เช่น ผู้สนับสนุนด้านสังคมและอารมณ์, นักบำบัดคู่สมรสและครอบครัว, ผู้ให้คำปรึกษาด้านอาชีพ, ผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิการและที่พักอาศัย เป็นต้น

“การเปลี่ยนแปลงในส่วนของ Digital Transformation ยังทำให้มหาวิทยาลัยถูกโหมกระหน่ำด้วย “ยุคของผู้บริโภค” เชื่อมโยงกับ Customer Experience, Learner Experience ที่ลูกค้าหรือนักศึกษาคาดหวังจะได้จากมหาวิทยาลัย เช่น การดูแลที่ดี การให้บริหารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนวิธีคิดจากที่มองว่าลูกค้า/นักเรียน เป็นผู้มาเรียนรู้จากเรา เป็นการให้ประสบการณ์ที่ดีกลับไปด้วย อีกประเด็นที่น่าสนใจคือแนวโน้มในประเทศไทยพบว่า คนจะมีอายุยืนขึ้นและมีชีวิตหลากหลายขั้น (Multi-Stage Life) จากที่เกิด ศึกษา ทำงาน และเกษียณ เปลี่ยนเป็นเกิด ศึกษา ทำงาน ศึกษา/เพิ่มทักษะ ทำงาน/เปลี่ยนอาชีพ พักชั่วคราว เพิ่มทักษะ ทำงาน และเกษียณในอายุที่สูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจำนวนคนไทยที่มีอายุ 100 ปีจะมีมากขึ้นด้วย ทำให้ระบบการศึกษาต้องปรับเปลี่ยน ไม่เพียงดูแลเฉพาะนักศึกษาที่อยู่ในระบบเท่านั้น แต่ต้องรองรับคนที่ต้องการเปลี่ยนงานและคนที่ต้องการ Reskill Upskill ด้วย” ดร. กิติพงค์ กล่าว

สำหรับกลุ่มเป้าหมายและจุดเน้นของการศึกษา คือการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิต และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อภาวะผันผวนของตลาดงานกลุ่มนักศึกษา จะต้องสร้าง Skillset ที่ตอบโจทย์การทำงาน ทำธุรกิจ สามารถแข่งขันในตลาดงานได้ และมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะวิกฤต ส่วนกลุ่มกำลังแรงงานที่มีจำนวนมากที่สุด จะต้องยกระดับกำลังแรงงานสู่ Skilled Worker และสร้างภูมิคุ้มกันด้านทักษะให้กับแรงงานกลุ่มเปราะบาง ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุและผู้กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุ (45-60 ปี) จะต้องพัฒนาให้เป็น Active Ageing Workforce สร้าง Life Skills สำหรับใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และสร้าง Career Skills พร้อมกลับสู่ตลาดแรงงานเสมอ

จากข้อมูลที่ สอวช. ได้รวบรวมและสังเคราะห์ พบว่า ระบบอุดมศึกษาไทยจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ (Shift Paradigm) ใน 10 ประเด็นหลัก ได้แก่

1) จาก Content-based ไปสู่ Competency-based: การสร้างการเรียนรู้ที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก

2) จาก Supply-driven ไปสู่ Co-creation: การออกแบบโมเดลการศึกษาร่วมกับเอกชน

3) จาก Degree-oriented ไปสู่ Employability-oriented: การปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

4) จาก Three-stage Life ไปสู่ Multi-stage Life: การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

5) จาก Institution-based ไปสู่ National Credit Bank: การจัดตั้งหน่วยงานกลางสำหรับการสะสมหน่วยกิต

6) จาก Limited Access ไปสู่ Opened Access: การตรวจสอบมหาวิทยาลัยด้วยการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาล

7) จาก Local Perspective ไปสู่ Global Perspective: การสร้างเมืองให้เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพไปสู่ระดับสากล

8) จาก กระจุก ไปสู่ กระจายโอกาสทางการศึกษา: การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษา ทั้งในเชิง Accessibility และ Affordability

9) จาก Supply-side ไปสู่ Demand-Directed Financing: นโยบายการสนับสนุนงบประมาณเพื่อตอบสนองต่ออุปสงค์

10) Towards Creative Ecosystem: การพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และทุนมนุษย์ โดยการพัฒนานิเวศสร้างสรรค์

อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดนวัตกรรมมากมาย เพื่อรองรับโจทย์ความต้องการที่ต่างไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบาย เช่น ในประเทศสิงคโปร์ ที่มี SkillsFuture Credit สำหรับประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปี จะมี Credit Account เพื่อใช้ในการสะสมหน่วยกิตสำหรับนำไปใช้พัฒนาทักษะในหลักสูตรต่าง ๆ, นวัตกรรมเชิงโมเดลการจัดการศึกษา มีการแข่งขันของหน่วยงานฝึกอบรมภาคเอกชนและการผลิกผันในระบบอุดมศึกษา, นวัตกรรมเชิงหลักสูตร เช่น Generation Foundation Model สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาที่ต้องการหางาน ให้เข้ารับการฝึกอบรม และจับคู่ตำแหน่งงานในสถานประกอบการ, นวัตกรรมเทคโนโลยีระบบการศึกษา หรือ EdTech เป็นเทคโนโลยีที่นำมาผนวกเข้ากับระบบการศึกษา ซึ่งพัฒนาเป็นสื่อการเรียนรู้สมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพ, University-Industry Co-Creation การพัฒนากำลังคนร่วมระหว่างสถาบันการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม หรือการ Upskilling & Employment Matching Platform คนว่างงานในพื้นที่

สำหรับตัวอย่างเครื่องมือสนับสนุนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) อาทิ การเลื่อนตำแหน่ง ศ. รศ. และ ผศ. ที่ไม่อาศัยงานตำราหรืองานวิจัย, การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox), มาตรการ Thailand Plus Package การรับรองการจ้างแรงงานลูกจ้างที่มีทักษะสูงและการรับรองหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์, แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ เป็นต้น

ในส่วนการจัดทำ Strategic Action Plan ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดร. กิติพงค์ กล่าวถึง ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) มีวิสัยทัศน์คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันที่ผลิตบัณฑิตที่มีอัตลักษณ์ มีคุณภาพ มีสมรรถนะ และเป็นสถาบันหลักที่บูรณาการองค์ความรู้สู่นวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ โดยแบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1) การพัฒนาท้องถิ่น

2) การผลิตและพัฒนาครู

3) การยกระดับคุณภาพการศึกษา

4) การพัฒนาระบบบริหารจัดการ

—————————————-