ตำรวจสอบสวนกลาง ร่วม อย. ทลายโกดังลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางรายใหญ่ ย่านดอนเมืองและภาษีเจริญ มูลค่าของกลางกว่า 3 ล้านบาท

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต. อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลงานจับกุมผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางรายใหญ่ ย่านดอนเมืองและภาษีเจริญ มูลค่าของกลาง3 ล้านบาท

สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภครายหนึ่งซึ่งได้สั่งซื้อเครื่องสำอางจากเพจเฟซบุ๊ก “ขายส่งเครื่องสำอาง ครีมบำรุงหน้าและครีมบำรุงผิว ลิปสติก น้ำหอมราคาถูก ๆ” เมื่อได้รับสินค้าพบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง คาดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้ามา จึงได้ประสานมายังกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (กก.4 บก. ปคบ.) สืบสวนหากระบวนการลักลอบนำเข้าเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย

ในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นของศาลแขวงดอนเมืองและศาลแขวงภาษีเจริญ เข้าตรวจค้นอาคารพาณิชย์ 2 แห่ง ย่านเขตดอนเมืองและเขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร พบเป็นโกดังเก็บเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา และอาหารซึ่งต้องสงสัยว่าอาจผิดกฎหมาย จึงทำการตรวจยึดและอายัดผลิตภัณฑ์กว่า 300 รายการ คิดเป็นจำนวนกว่า 100,000 ชิ้น รวมมูลค่าของกลางกว่า 3,000,000 บาท นำส่งพนักงานสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมและดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป เบื้องต้นเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิดตาม

(1) พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ฐานนำเข้าเครื่องสำอางโดยไม่จดแจ้ง ฐานขายเครื่องสำอางปลอมและแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐานขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(3) พรบ. ยา พ.ศ. 2510 ฐานขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(4) พรบ. อาหาร พ.ศ. 2522 ฐานขายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ. กล่าวว่า จึงขอฝากความห่วงใยถึงพี่น้องประชาชน ควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทุกครั้งก่อนที่จะทำการสั่งซื้อสินค้าจากสื่อออนไลน์ กรณีเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพควรตรวจดูเลขที่จดแจ้งเลข อย. ถูกต้องหรือไม่ เว็บไซต์ผู้จำหน่ายมีความน่าเชื่อถือเพียงใด และแจ้งเตือนกลุ่มผู้ขายสินค้าไม่ซื่อสัตย์ ขายสินค้าไม่ปลอดภัยในการใช้ หรือโฆษณาชวนเชื่อสรรพคุณเกินจริงผ่านสื่อออนไลน์ หากพบเห็นการกระทำความผิด
จะดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด และหากพบเห็นการกระทำความผิดสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค

ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า เครื่องสำอางเถื่อนที่ยึดได้ในครั้งนี้แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ กลุ่มบำรุงผิว/ตบแต่ง กลุ่มทำความสะอาด และกลุ่มน้ำหอม ซึ่งมักขายตามร้านค้าออนไลน์ หรือตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยโฆษณาขายในราคาถูก อ้างเป็นของนำเข้าพร้อมบรรยายสรรพคุณ เช่น ติดทน ไม่เลอะ รักษาสิว รอยแผลเป็น ฝ้า กระ ช่วยให้ผิวขาวกระจ่างใส เพื่อจูงใจในการสั่งซื้อสินค้า จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังในการซื้อเครื่องสำอางในลักษณะดังกล่าว เพราะที่ผ่านมา อย. มักพบว่าสินค้าที่นำมาขายเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลักลอบนำเข้า ไม่ทราบผู้ผลิตหรือ ผู้นำเข้าที่ชัดเจนทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวผลิตจากสถานที่ที่ถูกสุขลักษณะหรือไม่ ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพและความปลอดภัยมากน้อยเพียงใด จากการเฝ้าระวังสินค้ากลุ่มเครื่องสำอางที่ลักลอบนำเข้ามักตรวจพบสารที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอาง เช่น สีที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งหรือปนเปื้อนโลหะหนัก หรือส่วนประกอบที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ ซึ่ง อย. ได้ประกาศผลวิเคราะห์แจ้งเตือนภัยมาโดยตลอด นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังตรวจพบเครื่องสำอางปลอมที่ฉลากระบุผู้ผลิตไม่ตามจดแจ้ง เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่รับจ้างผลิต ผู้ว่าจ้างไม่อยากให้รู้ว่าตนเองจ้างใครผลิต จึงระบุชื่อบริษัทผู้ว่าจ้างลงบนกล่องเครื่องสำอางแทน

ซึ่งที่จริงแล้วผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่ต้องกลายเป็นเครื่องสำอางปลอมเพราะให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค จึงขอเตือนผู้รับจ้างผลิตไม่ควรตามใจผู้ว่าจ้างผลิตเพราะตามกฎหมายท่านเป็นผู้ร่วมกระทำผิดในการผลิตของผิดกฎหมายที่ออกมาจากโรงงานของท่าน ซึ่ง อย. จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเข้มงวดพร้อมดำเนินมาตรการทางปกครองอีกด้วย หากผู้บริโภคพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ขอให้แจ้งมาที่สายด่วน อย. 1556
************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 8 ธันวาคม 2564 แถลงข่าว 9 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
“การแถลงข่าวในครั้งนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน”

ข้อมูล https://bit.ly/3IxJn9i