วันที่ 7 ธันวาคม 2564 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ VDO Conference ไปยังผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และสำนักงานชลประทาน เครือข่าย SWOC ทั้ง 17 แห่งทั่วประเทศ โดยมี ผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำจากพื้นที่ต่างๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำต่อไป
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (7 ธ.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 59,666 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 35,538 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,800 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 60 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 8,104 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนสถานการณ์อุทกภัย ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี-มูล กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนและพื้นที่ภาคใต้ บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอยู่บางส่วน คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายในสองสัปดาห์นี้
อนึ่ง จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าในช่วงวันที่ 7 – 8 ธ.ค. 64 ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนยังคงปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอากาศเย็นถึงหนาว ส่วนภาคกลาง และภาคตะวันออก มีอากาศเย็น สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดน้อยลง นั้น จึงได้เน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกพื้นที่ พิจารณาเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่ต้องสำรองน้ำไว้ เพื่อปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 65 ลดผลกระทบจากสถานการณ์น้ำหลาก ตามข้อสั่งการของรัฐบาล โดยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) และนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมกับติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์กรมหาชน)(สสน.) และกรมอุทกศาสตร์ เพื่อนำมาบริหารจัดการน้ำด้วยความประหยัด สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำและสร้างการรับรู้ในการใช้น้ำให้ประชาชนทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงต่อไป