คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น

ประเทศไทยมีคนพิการทางการเห็นที่ขึ้นทะเบียนคนพิการแล้วเกือบ 200,000 ราย เป็นจำนวนอันดับที่ 3 จาก 7 ประเภทความพิการ สาเหตุของความบกพร่องทางการเห็นหลักๆ ได้แก่ ความเสื่อมตามอายุ โรคทางพันธุกรรม โรคติดเชื้อที่มีผลต่อการเห็น โรคทางสมองที่ส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการเห็น เป็นต้น ปัญหาที่คนตาบอดและคนสายตาเลือนรางต้องพบเจอ มักเป็นเรื่องการเดินทางและการอ่านหนังสือ หรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารต่างๆ โดยเฉพาะกรณีเกิดความพิการภายหลัง ย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจและการปรับตัวยอมรับความพิการอย่างมาก อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนพิการและผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัว

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรถศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า แม้เทคโนโลยีทางการแพทย์จะก้าวไกลมากขึ้น แต่โรคทางตาและโรคเรื้อรังหลายโรคอาจส่งผลต่อความบกพร่องในการมองเห็นแบบถาวรได้ เมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้ว จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพจะช่วยให้เขากลับไปดำเนินชีวิตประจำวัน สามารถเรียนหนังสือ และประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ลดการพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น กรมการแพทย์มีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ พร้อมพัฒนาหน่วยบริการต้นแบบด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มากขึ้น

แพทย์หญิงภัทรา อังสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ มีบทบาทในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการทางการเห็นมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการจัดหาและสนับสนุนเครื่องช่วยทางการเห็น เช่น แว่นขยายมือถือแบบพกพา แว่นตาขยายภาพ เครื่องช่วยขยายภาพแบบดิจิทัล เป็นต้น แก่สถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเพื่อให้คนพิการเข้ารับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้จัดบริการคลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของคนตาบอด และคนสายตาเลือนรางที่สิ้นสุดการรักษาทางจักษุและขึ้นทะเบียนคนพิการแล้ว สามารถเข้ารับการฝึกกิจวัตรประจำวัน การฝึกทักษะการทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation and Mobility;O&M) และรับเครื่องช่วยทางการเห็นที่เหมาะสมได้ รวมทั้งการรับคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการการดำเนินชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล คนพิการสามารถนัดหมายล่วงหน้าเพื่อเข้ารับบริการได้ในวันและเวลาราชการ