รมว.ศธ.มอบนโยบายการนำหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติสู่การปฏิบัติ

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การนำหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติสู่การปฏิบัติ” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 โดยมี พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล และ ผศ.วีรสิทธิ์ สิทธิไตรย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะนานาชาติ, ประธานและผู้แทนสภาหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย ตลอดจนผู้บริหารและผู้แทนจากสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน เข้าร่วมงาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวะนานาชาติ ได้รับรองหลักสูตรอาชีวะนานาชาติจากประเทศต่าง ๆ แล้ว สถาบันอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนก็สามารถนำหลักสูตรไปใช้จัดการเรียนการสอนได้ โดยสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ก็เป็นผู้ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการนำหลักสูตรอาชีวะนานาชาติไปปรับใช้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กอาชีวะมีทางเลือก เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กอาชีวะจะได้รับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยหลักสูตรอาชีวะนานาชาติเหล่านี้มีจุดเด่น อาทิ เมื่อเรียนจบแล้วเด็กมีงานทำทันที, เด็กได้รับวุฒิบัตรการศึกษาจากต่างประเทศ, ไม่ใช่หลักสูตรระยะสั้นแต่เป็นหลักสูตรวุฒิบัตรที่มีระดับของวุฒิบัตร อันจะบ่งบอกถึงความเชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้น ๆ เป็นต้น จึงถือเป็นวันประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงการอาชีวศึกษาของไทย

นอกจากนี้ ขอให้สถาบันอาชีวศึกษาที่สนใจจะนำหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติไปใช้ เร่งดำเนินการอย่างจริงจังให้เป็นรูปธรรม โดยได้เน้นย้ำสิ่งสำคัญที่จะดำเนินการ คือ การปลดปล่อยการศึกษาด้วยการเปิดรับผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานภายนอกและต่างประเทศ รวมทั้งปลดปล่อยให้เด็กและผู้บริหารมีทางเลือก ทั้งนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรม ก็ยอมรับหลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาอาชีวะนานาชาติอนุมัติ และกำหนดอัตราเงินเดือนตามสมรรถนะและความสามารถตามหลักสูตรที่จบการศึกษา

ในส่วนของค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาหลักสูตรอาชีวะนานาชาติ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กำลังประสานงานกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ในขณะเดียวกันสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ก็สามารถพิจารณาและดำเนินการให้เด็กกู้เงินเพื่อการศึกษาล่วงหน้าไปก่อนได้ เมื่อจบแล้วมีงานทำก็นำเงินมาใช้คืนสถาบันภายหลัง เนื่องจากสถาบันสามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า เด็กที่จบหลักสูตรอาชีวะนานาชาติและได้เข้าทำงาน จะได้รับเงินเดือนเท่าไร จึงขอฝากประเด็นนี้ให้ผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษาเอกชนพิจารณาด้วย

ม.ล.ปริยดา ดิศกุล กล่าวว่า คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรอาชีวศึกษานานาชาติได้ดำเนินการพิจารณาและรับรองหลักสูตรอาชีวศึกษาของต่างประเทศ เพื่อให้สถาบันอาชีวศึกษาของไทยนำมาปรับใช้กับการเรียนการสอนมาเป็นช่วงระยะหนึ่งแล้ว สิ่งสำคัญคือการมีผู้แทนจากสภาหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทยมาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ โดยสภาหอการค้าเหล่านี้มีบริษัทที่อยู่ในเครือข่ายกว่า 1,000 บริษัท และต้องการให้การอาชีวศึกษาไทยผลิตกำลังคนในสาขาที่ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ Electrical Engineering, Information Technology, Tourism and Hospitality, Business, Transport and Logistics เป็นต้น สถาบันอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่จะสามารถผลิตกำลังคนให้เกิดผลสำเร็จโดยเร็วที่สุด กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้ เริ่มนำหลักสูตร BTEC ของ Pearson สหราชอาณาจักร และของประเทศอื่น ๆ เพื่อให้สถาบันการอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมเลือกหลักสูตรมาเปิดสอน เพื่อผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาที่มีมาตรฐานสากล

ขอบคุณเว็บไซต์รัฐบาลไทย