บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ มูลนิธิใบไม้ปันสุข และ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เปิดตัวโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” โมเดลต้นแบบการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนและชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) พร้อมการบรรยายให้ความรู้ในรูปแบบออนไลน์ แก่ผู้บริหารและครูจากโรงเรียนรอบโรงกลั่นน้ำมันบางจากฯ และโรงเรียนในเครือข่ายของมูลนิธิใบไม้ปันสุขทั่วประเทศ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการรวม 40 โรงเรียน พร้อมทั้งการเสวนาโดยพันธมิตรภาคธุรกิจ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อให้เกิดความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติและแผนการดำเนินงานให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย
นางกลอยตา ณ ถลาง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจากฯ กล่าวว่า โครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” เป็นการขยายผลความร่วมมือจากโครงการ “รักษ์ ปัน สุข” ที่บางจากฯ และเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ดำเนินงานร่วมกันเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยการรวบรวมแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วมาผลิตใหม่และรวบรวมขวดน้ำบริโภคแล้วจากผู้บริโภคผ่านสถานีบริการของบางจากฯ ไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์อื่นโดยผ่านกระบวนการรีไซเคิล โดยบริษัทฯ และมูลนิธิใบไม้ปันสุข องค์กรเพื่อสาธารณกุศลของบางจากฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาและสิ่งแวดล้อมของเยาวชน มุ่งหวังจะต่อยอดแนวปฏิบัติด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนไปสู่เยาวชนให้มากขึ้น ด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมครบทุกบริบทของการจัดการขยะในโรงเรียน ส่งเสริมให้เยาวชนไทยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า มีความรู้รอบในการจัดการขยะใกล้ตัว อีกทั้งยังสอดคล้องกับตัวชี้วัดการด้านการสร้างชุมชน และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs: Sustainable Development Goals) ช่วยสร้างประโยชน์ให้ชุมชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดี มีรายได้เพิ่มจากมูลค่าของของเสียที่ถูกจัดการ รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ กล่าวว่า เอสซีจี เคมิคอลส์ และบางจากฯ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการที่สำเร็จร่วมกัน ได้แก่ การรีไซเคิลแกลลอนน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้วให้กลับมาเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่ สำหรับโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” ซึ่งได้ผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสังคมในครั้งนี้ นอกจากจะตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs: Sustainable Development Goals) แล้ว ยังสอดคล้องกับแนวคิด ESG (Environmental, Social and Governance) ที่เอสซีจี เคมิคอลส์ ให้ความสำคัญอีกด้วย ทั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ริเริ่มโมเดลการจัดการขยะแบบครบวงจรทั้งในระดับองค์กร และในระดับชุมชน ภายใต้โครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ซึ่งขับเคลื่อนผ่าน บ้าน-วัด-โรงเรียน-ธนาคารขยะชุมชน โดยใช้แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า (KoomKah)” มาช่วยบริหารจัดการข้อมูลของธนาคารขยะ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เอสซีจี เคมิคอลส์ จะนำองค์ความรู้ทั้งด้านวัสดุศาสตร์ และการบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร มาขยายผลร่วมกับบางจากฯ และมูลนิธิใบไม้ปันสุข ผ่านโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” เพื่อปลูกฝังทัศนคติเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และการจัดการขยะอย่างถูกต้องให้แก่เยาวชนไทย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้วัสดุหลายประเภทมีโอกาสได้กลับมาหมุนเวียนสร้างคุณค่าใหม่ และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย”
“บางจากฯ และมูลนิธิใบไม้ปันสุข ขอขอบคุณเอสซีจี เคมิคอลส์ พันธมิตรโครงการฯ ที่มาร่วมรณรงค์เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในโรงเรียน นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะส่งเสริมให้เกิดแม่แบบด้านการจัดการขยะให้กับประเทศ ที่สามารถขยายผลสู่ครอบครัวและชุมชนได้ สอดคล้องกับแนวคิดระบบเศรษฐกิจ BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) อันเป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังจากโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการประมาณ 40 โรงเรียนที่ได้ร่วมรับฟังการแนะนำโครงการ ส่งใบสมัครแจ้งความจำนงร่วมโครงการมา เราจะประกาศผลรายชื่อโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2564 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการอบรมตามแผนงานต่อไป” นางกลอยตา กล่าวทิ้งท้าย
ภายในงานเปิดตัวโครงการ “รักษ์ ปัน สุข จูเนียร์” ได้รับเกียรติจากวิทยากรของ บางจากฯ เอสซีจี เคมิคอลส์ และเต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) ร่วมบรรยายเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการจัดการขยะให้แก่ผู้ร่วมงาน
———————————–