เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “การประชุมชี้แจงและลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ ประจำปี 2565” ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง) นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารสถานพยาบาล เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
นายสุชาติ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้ การนำของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงานได้ให้ความสำคัญในการดูแล พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ให้ได้รับความคุ้มครองได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน โดยมอบหมายให้ผมนำนโยบาย “รวมไทยสร้างชาติ” และมุ่งมั่น ตั้งใจที่จะผลักดันนโยบายด้านแรงงานต่างๆ ทั้งการให้แรงงานอิสระเข้าถึงระบบหลักประกันทางสังคม เพื่อสร้างความเป็นธรรมและเท่าเทียมแก่แรงงานทุกภาคส่วน การจัดการและพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์ ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ผู้ประกันตนได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพตามมาตรฐานการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้ผู้ประกันตน พร้อมบริการทางการแพทย์มีระบบการบริหารจัดการที่เป็นเลิศ (Governance Excellence) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบข้อมูลด้านสารสนเทศ ด้านสุขภาพ ความมั่งคง ด้านยาและเวชภัณฑ์ และการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี
นายสุชาติ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน สำนักงานประกันประสังคมดำเนินการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านตรวจรักษา และจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีโควิด-19 มากกว่า 22,000 ล้านบาท แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงของผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตจะลดน้อยลง และในอนาคตโรคโควิด–19 จะเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยาที่ใช้เพื่อการรักษายังคงต้องพัฒนาต่อไป มาตรฐาน การรักษายังคงไม่หยุดนิ่งสถานพยาบาลต้องเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ดังกล่าวและสำนักงานประกันสังคมยังคงต้องปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อการรักษาให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญซึ่งในทุกๆ ปี สำนักงานประกันสังคมได้คัดเลือกสถานพยาบาลเพื่อการดูแลรักษาผู้ประกันตนให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ซึ่งมาตรฐานต่างๆ เหล่านี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสถานพยาบาลประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนในทางหนึ่งได้พัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสถานพยาบาล และผู้ประกันตน ในวันนี้ ตนต้องขอขอบคุณผู้แทนสถานพยาบาล ผู้แทนหน่วยงาน ผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมชี้แจงและลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ประจำปี 2565 ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานพยาบาลทุกแห่งจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตให้กับแรงงานทุกคนตลอดไป
นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เพื่อชี้แจงให้สถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคม ประจำปี 2565 ทั้ง 89 แห่งให้รับทราบแนวทางการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างเป็นเลิศ พร้อมรับทราบแนวทางการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างเป็นเลิศ และรับทราบนโยบายของกระทรวงแรงงานในการดูแลแรงงานทั่วประเทศ เพื่อร่วมกันให้บริการแก่ผู้ประกันตนมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน รวมทั้งลงนามสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน ประจำปี 2565 ระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับสถานพยาบาลเอกชน มีผู้เข้าร่วมการประชุม จำนวน 350 คน ประกอบด้วยผู้แทนจากสถานพยาบาลเอกชนในโครงการประกันสังคมในปี 2565 จำนวน 89 แห่ง ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน/ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม/แขกผู้มีเกียรติ/สื่อมวลชน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สำหรับในปี 2565 สำนักงานประกันสังคม จะมีสถานพยาบาลที่ดูแลผู้ประกันตน 254 แห่ง แบ่งเป็นภาครัฐ 165 แห่ง ภาคเอกชน 89 แห่ง สถานพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนประมาณ 2,243 แห่ง ค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่าย และค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือเหมาจ่ายเพื่อดูแลด้านการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน ในปี 2564 มากกว่า 52,000 ล้านบาท