พช.ศรีสะเกษ จับมือ สวทช. ผสาน “นวัตกรรม Encapsulation” เติมกลิ่นหอม ผ้าทอเบญจศรี “ชูผ้าอัตลักษณ์เบญจศรี “ผ้าศรีลาวา ผ้าศรีกุลา ผ้าศรีมะดัน ผ้าศรีลำดวน และผ้าศรีมะเกลือ” แก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในมิติทางด้านเศรษฐกิจและรายได้กระจายสู่ชุมชน
วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสระกำแพงใหญ่ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้ นายอนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อพัฒนาจังหวัด เกษตรจังหวัดศรีสะเกษ ผู้แทนปศุสัตว์จังหวัดศรีสะเกษ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ในการนี้ นางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นางสาวธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ได้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีประเด็นสำคัญเกี่ยวข้องกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ดังนี้
ประเด็นที่ 1. สรุปประเด็นสืบเนื่องจากการประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานภายใต้โปรแกรมยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติโดย นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร บริษัทไทยวา จำกัด(มหาชน) และคณะ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร กล่าวว่าโปรแกรมยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยเฉพาะในมิติด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนฯ เพื่อ ๑) ช่วยเหลือกลุ่มคนที่ยากจนในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ๒)ยกระดับคนจนให้ผ่านเส้นความยากจน ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ได้นำเสนอประเด็นการขับเคลื่อนวาระ ศรีสะเกษ ธานีผ้าศรี…แส่ว ภายใต้แบรนด์ “ผ้าทอเบญจศรี” โดยการนำเอาอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ เช่น ทุเรียนภูเขาไฟ ไก่ย่างไม้มะดัน ดินทุ่งกุลาร้องไห้ ใบลำดวนต้นไม้ประจำจังหวัด และผลมะเกลือ มาต่อยอดสร้างคุณค่า นำมาย้อมผ้าเกิดเป็นผ้าทอแบรนด์ศรีสะเกษ 5 ชนิด ได้แก่ ผ้าศรีลาวา ผ้าศรีกุลา ผ้าศรีมะดัน ผ้าศรีลำดวน และผ้าศรีมะเกลือ ทั้งนี้ได้ลงพื้นที่ กลุ่มเสื้อเย็บมือผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลืออบสมุนไพรบ้านเมืองหลวง อำเภอห้วยทับทัน ร่วมกับคณะกรรมการภายใต้โปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตฯ ซึ่งสรุปประเด็นความต้องการ ดังนี้
๑. เทคโนโลยีและนวัตกรรมทีช่วยในกระบวนการย้อมผ้าเพราะปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องการย้อมผ้าที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย้อมนานจนเกินไป
๒. เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยในกระบวนการเคลือบสีของผ้าให้ติดทน ไม่ตกสี และทำให้ผ้ามีกลิ่นหอมจากวัตถุดิบที่มามาผลิต เช่น กลิ่นดอกลำดวน
๓. เพิ่มช่องทางการตลาด / การประชาสัมพันธ์ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมการแส่วผ้าของกลุ่มเสื้อเย็บมือผ้าไหมลายลูกแก้วอบสมุนไพรบ้านเมืองหลวงให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้กับคนในชุมชนต่อไป
ข้อเสนอแนะจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
สวทช.จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเคลือบกัน UV ทำให้ผ้ามีความนุ่มลื่นและเคลือบสีผ้า
ให้มีความติดทน
๒.จะใช้เทคโนโลยีเอนแคบซูเลชั่น เข้ามาช่วยเรื่องการทำให้ผ้ามีความหอมจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต
ประเด็นที่ 2 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้ส่งร่างคำสั่งคณะทำงานขับเคลื่อนโปรแกรมยกระดับยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีพัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้
๑) จัดทำเป้าหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
2) ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โปรแกรมฯให้เป็นไปตามเป้าหมาย
๓) ประสานและเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
๔) รายงานผลการทำงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนโปรแกรมยกระดับยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทุก 3 เดือน
ประเด็นที่ ๓ เป้าหมายและแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ สวทช.กำหนดลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 10 – 12 ธันวาคม 2564 ในส่วนการขับเคลื่อนวาระผ้าทอมือ ธานี ผ้าศรี…แส่ว กำหนดลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมและแปรรูป/กลุ่มผ้าไหมทอผ้าพื้นบ้าน บ้านกระมัลพัฒนา ตำบลโพธิ์วงศ์ อำเภอขุนหาญ แหล่งกำเนิด “ผ้าศรีลาวา” เพื่อส่งเสริม ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพด้านการทอผ้า ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การแส่ว และยกระดับการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่การสาวไหม การย้อมผ้า ทอผ้า แส่วเสื้อ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และสินค้าโอทอป ของกลุ่มต่างๆ โดยเน้นประเด็นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ จะใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเคลือบกัน UV ทำให้ผ้ามีความนุ่มลื่นและเคลือบสีผ้าให้มีความติดทน และใช้เทคโนโลยีเอนแคบซูเลชั่น เข้ามาช่วยเรื่องการทำให้ผ้ามีความหอมจากวัตถุดิบที่นำมาผลิต
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับคณะทำงานฯ ในจังหวัดศรีสะเกษ ขับเคลื่อนโปรแกรมการยกระดับคุณภาพชีวิตด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะในมิติทางด้านเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน และการทำงานแบบบูรณาการโดยอาศัยเครือข่ายทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
เพื่อ “สืบสาน รักษา ต่อยอด” มรดกภูมิปัญญา ชูผ้าอัตลักษณ์เบญจศรี “ผ้าศรีลาวา ผ้าศรีกุลา ผ้าศรีมะดัน ผ้าศรีลำดวน และผ้าศรีมะเกลือ” สร้างรายได้กระจายสู่ชุมชน