จ.อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” นำโดย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ถ่ายทอดความรู้และร่วมกิจกรรมจิตอาสาทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ

จ.อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” นำโดย ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ถ่ายทอดความรู้และร่วมกิจกรรมจิตอาสาทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน นำจิตอาสา 904 จิตอาสาพระราชทาน และพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกิจกรรมจิตอาสาเฉพาะกิจจัดทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง เพื่อเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

จังหวัดอุบลราชธานี ได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่บริเวณลานข้างศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ฝั่งทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาไม่กลับกอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ: Sufficiency Economy Development Zones) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี ได้เข้าร่วมพิธีฯ และกิจกรรมจิตอาสาทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง ในครั้งนี้ โดยปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด

สำหรับ การสร้างศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาไม่กลับกองในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลเเละถ่ายทอดองค์ความรู้การทำปุ๋ยหมักผักตบชวาสู่พื้นที่อำเภอ ตำบล ที่มีผักตบชวา และขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับความเมตตาจากพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ อำเภอเขื่องใน และพระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม ในฐานะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ที่ได้เมตตาสนับสนุนและช่วยเหลือการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นมาโดยตลอด ตามหลัก “บวร” (บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ) เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้การจัดทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกองให้กับผู้เข้าร่วมพิธีและจิตอาสาในจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ การจัดทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกองนี้ เป็นหนึ่งในโครงการเพื่อขับเคลื่อนตามแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งผักตบชวา 40 ตัน จะได้ปุ๋ยหมัก 8 ตัน ใช้ระยะเวลาหมัก 60 วัน

โอกาสนี้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เปิดเผยว่า “ผักตบชวาเป็นวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อโดนกระแสน้ำจะไหลขาดออกจากกัน กระจายตัวออกเป็นส่วนย่อยๆ และเพิ่มปริมาณจนหนาแน่นอย่างรวดเร็ว กีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน จังหวัดจึงได้นำวัชพืชและผักตบชวามาทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง เพื่อนำไปใช้ในการเกษตร ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในคลองและลำน้ำดีขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เกิดเป็นต้นแบบชุมชนในการจัดการกับวัชพืชและผักตบชวาในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนั้น ยังได้ประโยชน์เป็นได้ปุ๋ยหมักชีวภาพ สูตร 15-15-0 ไปใช้ประโยชน์ในชุมชน ซึ่งประชาชนสามารถมารับปุ๋ยดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้โดยสามารถ เอาขี้วัวหรือผักตบชวามาแลกและรับปุ๋ยต้นแบบที่ศาลากลางจังหวัดฯ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครัวเรือนของตนต่อไป”