วธ.หนุนแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรมในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามันของ วธ. ด้วยมนต์เสน่ห์ของ “Andaman Paradise หรือ มรกตเมืองใต้” กระบี่เมืองศิลปะ ชุมชนยลวิถี-อาหารที่ภูเก็ต เปิดพิพิธภัณฑ์ฯสึนามิ พังงา เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์คแห่งใหม่ สร้างรายได้เข้าประเทศหลังโควิด
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2564 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนองและสตูล) ที่โรงแรม โซฟิเทล กระบี่ โภคีธารา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ต.หนองทะเล อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่ เมื่อเร็วๆนี้ว่า ที่ประชุมรับทราบวีดิทัศน์และการดำเนินงานขับเคลื่อนแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรมในเขตภาคใต้ฝั่งอันดามันตามที่วธ.เสนอ ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ประกอบด้วยจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล เป็นกลุ่มจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมด้วยมนต์เสน่ห์ของ“Andaman Paradise หรือ มรกตเมืองใต้” และมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยว จึงเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ดังนั้น กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายวัฒนธรรมจัดทำแผนสนับสนุนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พ.ศ. 2562 – 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการท่องเที่ยวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามนโยบายรัฐบาล
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า สำหรับแผนสนับสนุนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน พ.ศ. 2562 – 2565 ดำเนินการ 2 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย
1). พัฒนาสินค้าและกิจกรรมทางวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมได้ดำเนินการ เช่น การผลักดันให้จังหวัดกระบี่เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย การปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ ถนนศิลปะ ถนนประติมากรรม จัดเทศกาลศิลปะ 150 ปี กระบี่เมืองศิลปะ ยกระดับเทศกาลประเพณี สู่การท่องเที่ยวระดับชาติและนานาชาติ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม
2). ส่งเสริมสนับสนุนศิลปิน อัตลักษณ์ และวิถีชุมชนท้องถิ่น มีการจัดกิจกรรม “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” การส่งเสริมศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมบันเทิง การสร้างสรรค์การแปรรูปอาหารท้องถิ่น ของฝาก ของที่ระลึก รวมถึงนำเสนอวัฒนธรรมอาหารภูเก็ตผ่านเกมออนไลน์ Phuket Cooking Fever ต่อยอดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารของยูเนสโก และการให้บริการด้วยเสน่ห์ความเป็นไทยและเป็นเจ้าบ้านที่ดี
และด้านที่ 2. เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพต้นทุนมนุษย์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย
1).พัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยบูรณะโบราณสถานสำคัญ ปรับปรุงหอจดหมายเหตุแห่งชาติ จังหวัดตรัง การพัฒนาพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ถลาง การพัฒนาพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งธรณีพิบัติภัยสึนามิ บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดพังงา
2). ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทคุณธรรมแห่งชาติโดยการส่งเสริม ศาสนสถานทุกศาสนา โดยจัดกิจกรรมเป็น“ศูนย์เรียนรู้ คู่คุณธรรม”
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ วธ.ยังขับเคลื่อนการทำคอนเทนต์ ผลิตภาพยนตร์ ละคร เพลง จากจุดแข็งด้าน“Soft power”ความเป็นไทยของประเทศไทย โดยคัดเลือก 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” จากชุมชน 228 แห่งทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในทุกมิติ อาทิ ชุมชนแหลมสัก ชุมชนนาหมื่นศรี ชุมชนบ้านสามช่องเหนือ ชุมชนวัดมงคลนิมิต ชุมชนบ้านหงาว และชุมชนบ้านผัง 7 อีกทั้งวธ.ได้จัดทำ Mobile Application“เที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย” นำเสนอข้อมูลด้านท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจฐานรากด้วยมิติวัฒนธรรมหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เคยลดลง 70 – 80 เปอร์เซ็นต์ให้กลับมาสูงกว่า 6 แสนล้านบาทต่อปีอีกครั้ง
///