พระพาทำ! จ.อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” ขานรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย นำจิตอาสาเฉพาะกิจ ตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ)

พระพาทำ! จ.อุบลฯ ยึดหลัก “บวร” ขานรับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย นำจิตอาสาเฉพาะกิจ ตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 พระปัญญาวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม และพระพิพัฒน์วชิโรภาส ผู้อำนวยการศูนย์พุทธธรรมสมเด็จพระมหาธีราจารย์ ป่าดงใหญ่วังอ้อ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย สองพระนักพัฒนาที่เสียสละและร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนมาโดยตลอดตามหลัก “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน ราชการ ได้เมตตาและมอบองค์ความรู้ให้ นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วย นางศลิษา ภิรมย์รัตน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดอุบลราชธานี หัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา 904 จิตอาสาพระราชทาน จิตอาสาเฉพาะกิจ และประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานี บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกองขับเคลื่อนตามแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ: Sufficiency Economy Development Zones) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) ณ วัดป่าศรีแสงธรรม บ้านดงดิบ หมู่ที่ 5 ตำบลห้วยยาง อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

กิจกรรมจิตอาสาเฉพาะกิจ ตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาแบบไม่กลับกอง มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานแนวทางการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ถวายเป็นพระราชกุศล และน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอุทิศพระองค์ บำเพ็ญพระราชกรณียกิจ โดยมีพระราชดำริในการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรืองในทุกด้าน ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการ “โคก หนอง นา โมเดล” ตามศาสตร์ของพระราชา เพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้ร่วมกับส่วนราชการ ภาคเอกชน จิตอาสา และประชาชน ขับเคลื่อนกิจกรรมตามแนวทางพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) โดยการนำผักตบชวา ซึ่งเป็นวัชพืชที่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อโดนกระแสน้ำจะไหลขาดออกจากกัน กระจายตัวออกเป็นส่วนย่อยๆ และเพิ่มปริมาณจนหนาแน่นอย่างรวดเร็ว กีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน พร้อมกันนี้ ได้นำวัชพืชและผักตบชวา มาทำปุ๋ยหมักแบบไม่กลับกอง เพื่อนำไปใช้ในการเกษตร ส่งผลให้สิ่งแวดล้อมในคลองและลำน้ำดีขึ้น และผลักดันให้เกิดเป็นศูนย์เรียนรู้ในการจัดการกับวัชพืชและผักตบชวา ตลอดจนพัฒนาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชนและขยายผลไปยังชุมชนอื่นๆ ต่อไป

สำหรับกิจกรรมในวันที่30 พฤศจิกายน 2564 นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ ผู้อำนวยการจิตอาสาจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำจิตอาสาชาวจังหวัดอุบลราชธานี จัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีทำปุ๋ยหมักผักตบชวาไม่พลิกกลับกองพระราชทาน ณ วัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการทำปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกองสูตรวิศวกรรมแม่โจ้ โดยได้รับพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดทำปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ปรับปรุงดินในโครงการพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) และเป็นแหล่งเรียนรู้การทำปุ๋ยหมักจากผักตบชวาให้พี่น้องประชาชนรู้จักการพึ่งพาตนเอง ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งผักตบชวาที่เป็นวัตถุดิบมีจำนวนมากตามลำน้ำ ลำคลอง โดยได้ร่วมกันขุดลอกผักตบชวาจากลำห้วยกุดปลาขาว อำเภอวารินชำราบ ที่มีผักตบชวาลอยมากับแม่น้ำมูลจำนวนมาก มาติดในลำห้วยและขยายพันธุ์ไปอย่างรวดเร็ว ทางวัดป่าศรีแสงธรรม จึงได้ประสานขอผักตบชวาที่รื้อขึ้นมาจำนวน 6 รถพ่วง ประมาณ 240 ตัน มาไว้ที่วัดโดยมี นายสมชัย บูรณะ นายอำเภอวารินชำราบ และนายสมศักดิ์ บุญประชุม ประธานชมรมคนรักน้ำยืน ร่วมดำเนินการขนย้าย

โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก พลตรีกัลย์สรรค์ จันทรเสน รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน ได้มาร่วมกิจกรรมและตรวจเยี่ยมแปลงพระราชทานโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง (วัดป่าศรีแสงธรรม) เพื่อติดตามผลความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาชุมชน ของโครงการพระราชทาน โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง หรือโคกอีโด่ยวัลเล่ย์ แห่งนี้ ซึ่งนอกจากจะได้รับพระราชทานสนับสนุนการทำปุ๋ยหมักแล้ว ยังได้มอบเจลล้างมือพระราชทาน จำนวน 2,000 หลอด เพื่อแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้นต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนทุกระดับทุกพื้นที่ของประเทศให้อยู่ดีกินดียิ่งขึ้น

นอกจากนั้น จังหวัดอุบลราชธานี ยังได้ทำการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่บริเวณลานข้างศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ฝั่งทิศตะวันตก เพื่อใช้เป็นพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาไม่กลับกอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุบลราชธานี ต่อจากวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม ซึ่งการสร้างศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาไม่กลับกองในพื้นที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ในครั้งนี้ คาดหวังว่าจะเป็นต้นแบบเพื่อขยายผลเเละถ่ายทอดองค์ความรู้การทำปุ๋ยหมักผักตบชวาสู่พื้นที่อำเภอ ตำบล ที่มีผักตบชวา และขยายผลสู่การขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ของจังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป

ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมอาสาพัฒนาเฉพาะกิจ ตั้งศูนย์การเรียนรู้การผลิตปุ๋ยหมักจากผักตบชวาไม่กลับกอง เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพอเพียง (SEDZ) ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model) ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564 เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณลานข้างศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ฝั่งทิศตะวันตก