ปลัด ศธ. ชี้แจง กรณีรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวพาดพิงระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน

นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณี ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุขณะนี้การศึกษาไทยทำเด็กไทยไร้อนาคตชี้ปัญหาการศึกษาของไทยอยู่ในภาวะใกล้ปรอทแตกจากปัญหาสะสมหลายด้านทั้งกรณีผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (EF English Proficiency Index) ปี 2021 ของเด็กไทยรั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100จากทั้งหมด112ประเทศนอกจากนี้ยังมีเด็กอีกจำนวนมากเข้าไม่ถึงเครื่องมือสื่อการเรียนในช่วงโควิด 19 ขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต(LifelongLearning)อย่างจริงจังลดความเหลื่อมล้ำด้วยอินเทอร์เน็ตดี ฟรีค่าใช้จ่าย ใช้งานได้จริง เพื่อให้เด็กเข้าถึงความรู้ เป็นผู้ชี้นำการเรียนรู้ของตนเอง

ปลัด ศธ. กล่าวว่า ประเด็นกรณีผลการสำรวจทักษะความสามารถด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ(EFE nglish Profociency Index) ปี2021ของเด็กไทยรั้งท้ายตารางอยู่อันดับที่ 100 จากทั้งหมด 112 ประเทศ นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว จากการวิเคราะห์ ขั้นตอนการได้ผลคะแนนจากข้อสอบ EF SET พบว่าไม่น่าจะเป็นมาตรฐานสากล เนื่องจากเป็นการสอบผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ได้อยู่ภายใต้ Test condition คือไม่มีผู้คุมสอบ (invisgerator) จึงทำให้ไม่ทราบว่า ผู้ทำข้อสอบเป็นใคร ใบ certificate เพียงกรอกข้อมูลลงในระบบก็ได้แล้ว โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ และการตรวจสอบผลคะแนนย้อนหลังไม่สามารถดำเนินการได้ รวมทั้งข้อมูลที่ปรากฏใน certificate ด้วย อ้างอิงจาก เว็บไซต์ ของ EF พบว่า ข้อสอบ EFSET ถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือประกอบการเรียนรู้ (Learning tool) เท่านั้น อีกทั้งจากบทรายงานการวิจัยของEFข้อสอบEFSETถูกออกแบบมาเพื่อจัดระดับ placement นักเรียนให้เหมาะสมกับหลักสูตรของ EF จากการรายงาน (report) ไม่มีการระบุจำนวน และที่มาของ กลุ่มตัวอย่าง(samples)จากทุกประเทศที่นำมาจัดอันดับและไม่ทราบว่ามีจำนวนกลุ่มตัวอย่างเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนในระดับประเทศหรือไม่ รวมทั้งข้อสอบของEFไม่มีกระบวนการหาคุณภาพข้อสอบ(validation)จากหน่วยงานภายนอกจึงไม่ถือว่าเป็นข้อสอบที่มีมาตรฐาน ตลอดจน EFSET ไม่ใช่ข้อสอบในลักษณะที่ออกเพื่อพัฒนา 4 ทักษะ เพื่อนำมาพัฒนา

ในส่วนมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ใช้หลักเกณฑ์ของชุดข้อสอบตาม CEFR 4 ทักษะ เพื่อใช้ในการพัฒนาครู นำไปถ่ายทอดลงสู่นักเรียน โดยมีการพัฒนาครูแกนนำภาษาอังกฤษ (Thai Master Trainers)หลักสูตรBootCampและBootCampTurboจำนวน 28,000 คน คิดเป็นร้อยละ 90 ของครูภาษาอังกฤษทั้งหมด และมีการสอบวัดระดับทักษะภาษาอังกฤษผ่านศูนย์ HCEC 185 ศูนย์ อีกทั้งพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครูผู้สอนภาษาอังกฤษและครูผู้สอนวิชาอื่นๆ ทั้งแบบ On Site / Online และ On Demand รวมทั้งวางแผนการสอบวัดมาตรฐาน CEFR สำหรับนักเรียน / ครู และบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนวางแผนเรื่องการร่วมมือกับ TESOL และหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศในการพัฒนาครูภาษาอังกฤษ

ส่วนประเด็นที่แนะนำให้กระทรวงศึกษาธิการควรพิจารณาเพิ่มทางเลือกในการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหน่วยงานทางการศึกษาที่ดูแลการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้บริการแก่ผู้เรียนและประชาชนโดยเฉพาะการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้เรียนที่อายุเกิน 15 ปีขึ้นไปเป็นหลัก และมีผู้เรียนในพื้นที่ห่างไกลราว 20,000 รายที่อายุต่ำกว่า 15 ปี โดยในปีการศึกษา 2564 มีผู้เรียนจำนวนแปดแสนกว่าคนจัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ด้อย พลาด ขาดโอกาสทางการศึกษา ที่สำนักงาน กศน.ต้องดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคให้ได้มากที่สุด

สำนักงานกศน.จัดเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน ที่หลากหลาย โดยมีสื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน ในสถานการณ์โควิด 19 ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ ระบบโทรทัศน์เพื่อการศึกษา (ETV) ซึ่งมีสาระความรู้ในทุกสาระวิชาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและโครงการติวเข้มเติมเต็มความรู้ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) มีระบบคลังความรู้ กศน. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต (Thailand Knowledge Portal :TKP)โครงการส่งเสริมและพัฒนาระบบการศึกษาออนไลน์ที่ส่งเสริมในระบบส่วนกลาง และสถานศึกษา กศน. ในระบบการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบ LMS (Learning ManagementSystem) รวมถึงมีระบบสื่อการศึกษาออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงผ่าน Video On demand ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเลื่อมล้ำด้วยอินเทอร์เน็ตฟรีค่าใช้จ่าย ใช้งานได้จริง สร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านอินเทอร์เน็ต ฟรีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงความรู้ เป็นผู้ชี้นำ การเรียนรู้ด้วยตนเองโดยประสานงานกับภาคีเครื่อข่ายต่าง ๆ สนับสนุนค่าเช่าบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับตำบล 1,378 แห่ง ซึ่งเปรียบเสมือนห้องเรียนและเป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล เพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตฟรีในการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและบริการทางการศึกษาได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยการจัดการศึกษาแบบทางไกล (distance learning) ยังถือเป็นการศึกษาทางเลือกที่ต้องมีระบบ LMS หรือเป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยการจัดการศึกษาในระบบทุกระดับถึงอุดมศึกษายังใช้การเรียนแบบ Class room & Science lab. เป็นแนวทางหลัก

“กระทรวงศึกษาธิการยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสทางการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกช่วงวัยอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อพัฒนาทักษะให้สอดคล้องกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและหลากหลาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีดิจิทัล และองค์ความรู้ต่าง ๆ ในศตวรรษที่ 21 มีศักยภาพในการเข้าร่วมพัฒนาสังคม ตลอดจนประเทศชาติให้ก้าวสู่สังคมที่เป็นธรรม ไม่มีความเหลื่อมล้ำ หรือคงเหลือความเหลื่อมล้ำให้น้อยที่สุด เท่าที่จะน้อยได้” ปลัด ศธ. กล่าวทิ้งท้าย