ชป.เฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้อย่างใกล้ชิด พร้อมเร่งระบายน้ำท่วมทุกพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

Featured Video Play Icon

ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ภายหลังการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซียเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ในขณะที่มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในขณะที่ปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัยในอีก 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง

กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมในการรับมือฝนที่อาจตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ด้วยการพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ  ให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลง ของระดับน้ำทะเล  รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในพื้นที่ภาคใต้ กรมชลประทานดำเนินการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือในพื้นที่ภาคใต้รวม 1,189 หน่วย แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 350 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 440 เครื่อง รถแทรกเตอร์/รถขุด 196 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่นๆ 203 หน่วย ไว้ในบริเวณพื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรองให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี – มูล ปัจจุบันระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำมูลที่สถานี M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,174 ลบ.ม/วินาที  ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงยังเป็นไปด้วยดี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขง ยังต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 4.69 เมตร ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 164 เครื่อง ที่สะพานพิบูลมังสาหาร(แก่งสะพือ) อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น  และติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 73 เครื่อง ระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ  288 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ในขณะที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 483 ลบ.ม./วินาที ส่วนน้ำในทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาอยู่ระหว่างกาาระบายน้ำ และจะคงเหลือน้ำส่วนหนึ่งไว้ในระดับน้ำเฉลี่ย 0.30 เมตร เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป โดยปริมาณน้ำที่ระบายจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีสูบน้ำ(สน.)ริมแม่น้ำต่างๆ อาทิ สน.พระยาบรรลือ สน.พระพิมล สน.มหาสวัสดิ์ สน.มหาชัย สน.สิงหนาท2 สน.พระอุดม และสน.บางบัวทอง เป็นต้น

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีน ยังคงเป็นไปได้ช้า เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับผลกระทบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทาน ได้ลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 70 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 143 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนจะเริ่มคลี่คลายลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564