มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดผลสำรวจความรุนแรงในครอบครัวยุคโควิด พบ 3 ใน 4 ถูกกระทำซ้ำ มีเหล้าเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ อึ้งกว่าร้อยละ 87 ไม่เคยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานใด สสส.-มูลนิธิฯ- Wunderman Thompson TH ขออย่าทน ปิดจบความรุนแรงที่ครั้งแรก พร้อมเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ออนไลน์ “Museum of First Time” ถ่ายทอดเรื่องราวของครั้งแรกที่สวยงามในความรัก เปลี่ยนมาสู่ความรุนแรงที่กระทำซ้ำๆ จากสามีนักดื่ม
เมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่เดอะฮอล์ บางกอก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย (Wunderman Thompson TH) จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล ภายใต้แนวคิด “ความรุนแรงในบ้าน ให้มันจบที่ครั้งแรก” พร้อมเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ที่สร้างจากเรื่องจริงของผู้ที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ ในรูปแบบออนไลน์ “Museum of First Time”
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า เดือน พ.ย.ถือเป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ข้อมูลล่าสุดของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งให้ความช่วยเหลือเคสที่เข้ามาขอคำปรึกษา ขอความช่วยเหลือ พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ ที่สำคัญคือเคสที่ถูกกระทำทุกคนหรือ 100 % ถูกกระทำซ้ำและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญ จุดนี้ยิ่งทำให้ สสส. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับบริษัท วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย เดินหน้าเชิงรุก ประกาศเจตนารมณ์เดียวกันที่จะทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวลดลงให้มากที่สุด ซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นต้นทางของปัญหาสำคัญๆใน 4 มิติ ได้แก่
(1) ด้านสุขภาพ ทำลายภูมิคุ้มกัน เพิ่มความเสี่ยงติดโควิด 2.9 เท่า
(2) ด้านอุบัติเหตุทางถนน ที่มากกว่าร้อยละ 20 ของอุบัติเหตุทางถนนมาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งเพิ่มสูงถึงร้อยละ 40 ในช่วงเทศกาล
(3) ด้านเศรษฐกิจ เกิดความสูญเสียไปมากกว่า 9 หมื่นล้านบาทต่อปี
(4) ความรุนแรงในครอบครัว ทั้งต่อเด็กและผู้หญิง และจากการศึกษาในคนทั่วไปพบว่าร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบจากคนที่ดื่ม
“กิจกรรมในวันนี้มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนสังคม ตลอดจนการพิจารณามาตรการทางนโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ทั้งนี้ สสส.และภาคีเครือข่ายขอเชิญชวนทุกท่านเข้าไปร่วมชมนิทรรศการ เรื่องราวของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ และชี้ให้เห็นความสำคัญ ของปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ที่ต้องให้มันจบในครั้งแรก ตลอดจนการเข้าไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้กำลังใจกันและกันได้ทาง www.museumof1sttime.com” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
นางสาวจรีย์ ศรีสวัสดิ์ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ช่วงโควิด-19 วันที่ 17-23 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มอายุ 20 ปีขึ้นไป ในกทม.และปริมณฑล จำนวน 1,692 คน พบถูกกระทำความรุนแรงทางวาจา เช่น พูดส่อเสียด ดูถูก ด่าทอ 53.1% ห่างเหิน/มึนตึง/ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัว 35% ทำให้รู้สึกอับอาย ประจานกันผ่านสังคมออนไลน์ 22.6 % ทำร้ายร่ายกาย 20.2 % นอกใจ/คบชู้ 18.9 % และยังพบผู้กระทำทำขณะเมาเหล้า 31.4 % ทั้งนี้สถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 สาเหตุเนื่องมาจากโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น สูญเสียรายได้ ตกงาน ถูกเลิกจ้าง 82% ผลกระทบด้านอารมณ์ เช่น วิตกกังวล เครียด 80.2 % กระทบต่อความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว 31.3 % และกว่า 75 % ของความรุนแรงในครอบครัวมักเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ส่งผลกระทบด้านจิตใจ 65.2 % เช่นเครียด และอับอาย ผลกระทบด้านร่างกาย 14.5 % อาทิ ปวดหัว เครียดลงกระเพาะ และเจ็บปวดตัว เป็นแผล ผลกระทบด้านอื่น ๆ 9.9 % เช่น สังคมประณาม เพื่อนบ้านดูถูกนินทา และเสียทรัพย์สิน สิ่งของ หรือเสียเงิน
นางสาวจรีย์ กล่าวว่า เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาผู้ถูกกระทำเลือกตอบโต้ด้วยวาจา 52.2 % พูดคุย หาคนมาไกล่เกลี่ย 33.2 % หลบเลี่ยงไม่พบหน้า/แยกไปอยู่ที่อื่น 20.1 % ยอม วางเฉย เก็บเงียบ 11.9 % ร้องเรียน แจ้งความ 1.4 % ที่น่าห่วงคือพบว่ากลุ่มตัว อย่าง 87.4% ไม่เคยขอความช่วยเหลือหรือปรึกษาจากหน่วยงานหรือจากใครเลย โดย 75.6 % คิดว่าสามารถแก้ไขปัญหาได้เอง 61.8 % คิดว่าเป็นเรื่องในครอบครัว ไม่ควรให้คนนอกรู้ 40 % มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องใหญ่ 11 % คิดว่าติดต่อไปก็ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น และ 5.8% ไม่รู้วิธีติดต่อขอความช่วยเหลือ อีก 4.4 % ไม่รู้ว่ามีหลายหน่วยงานที่ช่วยได้ ส่วนที่มีการขอความช่วยเหลือนั้นพบว่า 12.4 %มีการแจ้งตำรวจ สายด่วน 10 % แจ้งมูลนิธิหรือหน่วยงานภาคเอกชนที่ให้ความช่วยเหลือ 1 % แจ้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม (1300) 0.8 % แจ้งผู้นำชุมชน และ 0.4 % แจ้งพ่อแม่/ญาติ/บุคคลใกล้ชิด ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทางมูลนิธิเสนอให้กลไกรัฐกระบวนการยุติธรรม ต้องมีทัศนคติมองปัญหาความรุนแรงให้ชัดเจนเข้าใจ ไม่ใช่แค่ไกล่เกลี่ย รวมถึงการปรับทัศนคติวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ การใช้อำนาจ ลดปัจจัยจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยการบังคับใช้กฎหมายพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 รวมถึง รณรงค์ให้ผู้หญิงได้เข้าถึงสิทธิ มีทางออก มีพื้นที่ มีหน่วยงานที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพร้อมช่วยเหลือทั้งทางกฎหมายและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งติดต่อได้ทาง 02-513-2889 หรือ Facebook “มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล” หรือโทร.สายด่วน 1300
นางสาวชนิกานต์ สิทธิอารีย์ ทีมวันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย (Wunderman Thompson TH) กล่าวว่า หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในบ้านครั้งแรกแล้วฝ่ายชายจะขอโทษ และให้คำสัญญาส่วนผู้หญิงก็จะยอมให้อภัย เพราะไม่คิดว่าจะมีอีก แต่จริงๆ จะพบว่าเมื่อมีครั้งแรกแล้วจะมีครั้งต่อๆ ไปเสมอ และรุนแรงขึ้น หลายรายถึงขั้นเสียชีวิต ทางครีเอทีฟจึงหยิบเรื่องราว “ครั้งแรกของผู้หญิง” ตีความให้รอบด้านอยู่ในโลกความเป็นจริงยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นผลงาน Virtual Museum กับคอนเซ็ปต์ Museum of First Time โดยหวังให้ผู้หญิง โดยเฉพาะผู้ที่ถูกทำร้ายได้รับชม รับรู้ และตัดสินใจจัดการบางอย่างเพื่อไม่ให้มีครั้งต่อไป หรือการเลือกที่จะออกมาจากความสัมพันธ์แห่งความรุนแรงนั้น และหวังว่าการทำร้ายร่างกายในบ้านในครอบครัว หรือแม้แต่คู่รัก จะลงลงไปจริงๆ เราจะได้ไม่ต้องทำแคมเปญนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ต้องแก้ไขทัศนคติ วิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ ให้เป็นสังคมที่มีความเท่าเทียมทางเพศ เคารพในเนื้อตัวร่างกาย เคารพในสิทธิของกันและกัน ความรักเป็นเรื่องที่ดี สวยงามแต่คุณไม่มีสิทธิทำร้ายกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของชีวิตใคร
ด้าน นางสาวตวิษา ปานแม้น อายุ 32 ปี ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว กล่าวว่า ในช่วงที่เป็นวัยรุ่นอายุ17 ปี คบกับแฟนที่อายุห่างกันมากกว่า 10 ปี ดื่มแอลกอฮอล์กันทั้งคู่ ทำให้ทะเลาะตบตี แต่ด้วยความรักเขาจึงตกลงแต่งงานและย้ายมาอยู่ด้วยกัน หลังจากนั้นสามีดื่มเหล้าหนักขึ้นและดื่มนานขึ้น ยิ่งทะเลาะกันรุนแรง ทั้งวาจา ร่างกาย เช่น ตอนที่ตนเรียกให้กลับบ้านซึ่งก็ยอมรับว่าเราเองก็ยังเด็ก เลยปากร้าย พูดจาไม่ดี ทำให้ถูกสามีทำร้าย เหยียบศีรษะต่อหน้าเพื่อนในวงเหล้า ซึ่งสถานการณ์ครอบครัวเป็นแบบนี้มาตลอดจนเราทนไม่ไหวขอเลิก แต่เขาไม่ยอม ตนเตรียมจะหนีออกมาแล้ว แต่ตรวจพบว่าตั้งครรภ์ก่อนเลยตัดสินใจอยู่ด้วยกันต่อเพราะอยากให้ลูกมีครอบครัวที่สมบูรณ์ และคิดว่าหากเขามีลูกแล้วน่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แต่สุดท้ายก็เป็นแบบเดิมพอเมามาก็ทะเลาะ ทำร้ายร่างกาย แต่ที่ตัดสินใจออกมาเด็ดขาดก็ตอนที่ทะเลาะกันแล้วลูกที่เพิ่งคลอดได้ 5 เดือน ลูกโดนหางเลขไปด้วย หัวปูดต้องเข้าโรงพยาบาล จากนั้นเราก็ไม่กลับไปหาเขาอีกเลย ส่วนลูกอยู่กับย่าและเป็นฝ่ายมาหาตน เพราะถ้าตนไปหาลูกผู้ชายคนนั้นก็จะทำร้ายเราอีก
“ตอนเช้าที่เขาไม่เมาเหมือนเทพบุตรขอโทษ สัญญาว่าจะไม่ทำร้ายเราอีก แต่พอตกเย็นมาก็กินเหล้า แล้วกลายเป็นปีศาจ เคยทะเลาะกันหนัก ปามีดขู่เราแต่พลาดปักเข้าที่ขาต้องเย็บถึง 27 เข็ม หลังจากเลิกกันแล้วเรามีแฟนใหม่ คนนี้ก็กินเหล้าทะเลาะกันแบบเดิมอีกจนเลิกลากันไป และเราตัดสินใจเลิกเหล้า ปัจจุบันมีครอบครัวอีกครั้งสามีไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ชีวิตแฮปปี้มาก เลยคิดว่าปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากเราเองที่พาตัวเองไปอยู่ในวงจรแบบนั้นถึงได้เจอคนไม่ดี ดังนั้นจึงขอฝากผู้หญิงให้รักตัวเองให้มาก ถ้าถูกทำร้ายอย่าทน อย่าคิดว่าจะเปลี่ยนใครได้” นางสาวตวิษา กล่าว
////////////////