กรมชลประทาน ยังคงเดินหน้าระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 จังหวัดอย่างต่อเนื่อง ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องจักร เร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล ให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ในขณะที่ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.) และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตั้งแต่เดือนกันยายน จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ 53 จังหวัดทั่วประเทศประสบอุทกภัย กรมชลประทานได้เตรียมแผนรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ทั้งการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน กำจัดวัชพืชขวางทางน้ำ ความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินนการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 11 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม และภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี และสตูล กรมชลประทาน ยังคงเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ปกติโดยเร็ว
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี – มูล ปัจจุบันระดับน้ำทางตอนบนลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่น้ำมูลที่สถานี M.7 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,510 ลบ.ม/วินาที มีแนวโน้มลดลง การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงยังเป็นไปด้วยดี เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำโขง ยังต่ำกว่าแม่น้ำมูลประมาณ 4.70 เมตร ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่สะพานพิบูลมังสาหาร(แก่งสะพือ) อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น 100 เครื่อง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำอีก 77 เครื่อง ระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด คาดว่าระดับน้ำในแม่น้ำมูลที่ไหลผ่านจังหวัดอุบลราชธานี จะเริ่มต่ำกว่าตลิ่งประมาณสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลดลงเหลือ 674 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ในขณะที่สถานี C.29A อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านลดลงเหลือ 926 ลบ.ม./วินาที ในขณะที่ยังคงเหลือน้ำในทุ่งลุ่มต่ำเจ้าพระยาประมาณ 1,335.58 ล้าน ลบ.ม. ที่อยู่ระหว่างระบายน้ำออก และจะคงเหลือน้ำส่วนหนึ่งไว้ในระดับน้ำเฉลี่ย 0.30 เมตร เพื่อให้เกษตรกรได้ทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งต่อไป โดยปริมาณน้ำที่ระบายจากพื้นที่ลุ่มต่ำ จะเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ชุมชน ก่อนระบายลงสู่แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านสถานีสูบน้ำ(สน.)ริมแม่น้ำต่างๆ อาทิ สน.พระยาบรรลือ สน.พระพิมล สน.มหาสวัสดิ์ สน.มหาชัย สน.สิงหนาท2 สน.พระอุดม และสน.บางบัวทอง เป็นต้น
ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำท่าจีน ปัจจุบันการระบายน้ำในแม่น้ำท่าจีน ยังคงเป็นไปได้ช้า เนื่องจากอิทธิพลของน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ยังคงมีพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำได้รับส่งผลกระทบในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี และนครปฐม กรมชลประทาน ได้ลดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ด้วยการผันน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก รวม 402 ลบ.ม./วินาที พร้อมกับติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 70 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 127 เครื่อง เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ให้ไหลลงสู่ทะเลโดยเร็ว คาดว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำท่าจีนจะเริ่มคลี่คลายลดลงต่ำกว่าตลิ่งประมาณกลางเดือนธันวาคม 2564
ทั้งนี้ กรมชลประทานยังคงเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำทางภาคใต้อย่างใกล้ชิด จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่แจ้งเตือนฝนตกหนักในช่วงนี้ กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพในการระบายในลำน้ำต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยง 8 จังหวัด บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง และสตูล ให้พร้อมรับน้ำฝนที่จะตกลงมาเพิ่ม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากน้ำที่อาจล้นตลิ่งในพื้นที่เสี่ยงได้ ตลอดจนเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือให้พร้อมใช้งานได้ทันที