เปิดฉากสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ตั้งเป้าผลักดันการใช้ประโยชน์ “พื้นที่สาธารณะ” พัฒนา “ระบบบริการปฐมภูมิ” เพื่อสุขภาวะชาวกรุง

กทม. สช.และภาคีเครือข่าย แถลงข่าวจัด “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2” เตรียมพิจารณา 2 ระเบียบวาระเพื่อสุขภาวะชาวกรุง ทั้ง “การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะ” และ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ” เดินหน้าสู่เป้าหมายออกแบบกรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครสำหรับทุกคน

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย แถลงข่าวการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2564 ซึ่งเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่จะนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมของพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25 พ.ย. 64 สำหรับการจัดงานครั้งนี้ คณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน ได้เปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประเด็นปัญหา ความเดือดร้อน หรือข้อห่วงใยที่มีผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ เข้ามาพิจารณา ก่อนจะรวบรวมออกมาเป็น 2 ประเด็นสำคัญ หรือ 2 ระเบียบวาระของสมัชชาฯ ที่จำเป็นต้องใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมในการผลักดันหรือแก้ปัญหา

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ระเบียบวาระแรกคือ “การสานพลังพัฒนาพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะของชุมชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ท้าทายของเมืองใหญ่ โดยเฉพาะช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่มีการเรียกร้องให้พื้นที่สาธารณะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ตอบสนองต่อความต้องการและบริบทของพื้นที่ โดยให้ทุกคนในชุมชนมีโอกาสและความเท่าเทียมในการเข้าถึง เป็นพื้นที่กิจกรรม หรือพักผ่อนในภาวะปกติ รวมไปถึงใช้เพื่อรองรับภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในชุมชนแออัดที่มีพื้นที่จำกัด ไม่เหมาะสมต่อสุขภาพอนามัย ขณะที่อีกระเบียบวาระคือ “การพัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครเพื่อรองรับภาวะวิกฤติ” เนื่องจากระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิมีความสำคัญต่อการดูแลประชาชนแบบองค์รวม ตั้งแต่การส่งเสริม ป้องกัน ไปจนถึงการรักษาและฟื้นฟู ซึ่งวิกฤตโควิด-19 ได้ทำให้เราเห็นข้อจำกัดของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิในกรุงเทพมหานคร ที่ประชาชนจำนวนมากประสบปัญหาเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐาน รวมทั้ง ขาดการเชื่อมโยงกันของระบบ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง

“เวทีสมัชชาฯ ในครั้งนี้ คาดหวังว่าทุกภาคส่วนจะร่วมกันผลักดันเพื่อให้กรุงเทพมหานคร เกิดพื้นที่สาธารณะเพื่อสุขภาวะ เป็นเสมือนพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน ที่ดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้สอยและทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อการปรับพฤติกรรมของผู้คนในโลกยุคใหม่ ซึ่งนับวันยิ่งเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ขณะเดียวกันจะร่วมมือกันสร้างระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่พึงประสงค์ ให้บริการทั้งด้านสุขภาพกาย จิต และสังคม ด้วยความเสมอภาค เพื่อการเข้าถึงบริการของทุกคนในกรุงเทพมหานครต่อไป” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นในกรอบประเด็นหลัก “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ร่วมสร้างมหานครสุขภาวะ วิถีใหม่” ถือเป็นโอกาสอันดีที่ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมกันรับฟังปัญหา ถกแถลง เสนอความคิดเห็น และแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นการออกแบบอนาคตของคนกรุงเทพมหานครร่วมกัน โดยมุ่งหวังที่จะผลักดันให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นมหานครสำหรับทุกคน ทั้งนี้ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ และธรรมนูญสุขภาพ เป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมจากคนทุกฝ่าย ที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าสามารถช่วยหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ได้จริง โดยปัจจุบันมีกระบวนการสมัชชาในทุกระดับ และมีธรรมนูญสุขภาพในระดับพื้นที่เป็นจำนวนมาก แต่สำหรับกรุงเทพมหานครแล้ว เป็นครั้งสองที่จะมีการจัดงานสมัชชาสุขภาพ ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะเป็นองค์ประกอบสำคัญหนึ่งของเมือง รองรับความต้องการอันหลากหลาย ซึ่งหากพื้นที่สาธารณะที่เกิดขึ้นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ ก็จะช่วยสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีภายในชุมชนได้มาก ในช่วงวิกฤตนี้เราได้เห็นหลายชุมชน จับมือกับภาครัฐ เอกชน และหลายภาคส่วน ใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อจัดตั้งครัวกลาง เป็นพื้นที่ตรวจโรค ไปจนถึงเป็นการเปลี่ยนพื้นที่เป็นศูนย์พักคอย ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนถึงความสำคัญที่สมัชชาสุขภาพฯ จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาให้เกิดขึ้นจริงในฐานวิถีชีวิตใหม่ เพื่อให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองแห่งสุขภาวะเพื่อทุกคน

อนึ่ง นอกจากการพิจารณาให้ข้อเสนอต่อระเบียบวาระแล้ว กิจกรรมภายในงานวันที่ 25 พ.ย. 64 จะมีการรายงานผลการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2563 รวมทั้งการจัดบูธนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้พื้นที่สาธารณะ ทั้งมิติการส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงทางอาหาร พื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ และพื้นที่เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 โดยชุมชน โดยจะจัดทั้งในรูปแบบการประชุมในสถานที่ (Onsite Meeting) ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น และแบบออนไลน์ (Online meeting) ผ่านระบบ Zoom สำหรับประชาชนที่สนใจสามารถรับชมการถ่ายทอดสดทาง FB Live  กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
—–